ดีอีเอสเร่งดันกม.ขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล

30 ก.ย. 2564 | 07:00 น.
943

ดีอีเอส เร่งออก พรฎ. ตีทะเบียนแพลตฟอร์มธุรกิจบริการดิจิทัล ทั้งอีมาร์เก็ตเพลส โซเชียลมีเดีย เพลง-วิดีโอสตรีมมิ่ง คาดเสนอเข้า ครม.พิจารณา ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า

รายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยปี 2563 มีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 5.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 7% คาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีมูลค่าสูง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะมี พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกมาเป็นเวลา 10 ปี แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมดูแลบริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค และการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มไทย และต่างชาติ

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) อยู่ระหว่างการนำเสนอ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .ที่ผ่านการทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรับแก้ตามข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) แล้วให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณา

ดีอีเอสเร่งดันกม.ขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ  เอ็ตด้า นำเสนอ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .…มายังกระทรวงดีอีเอสเพื่อพิจารณา ภายหลังร่าง พรฎ.ดังกล่าวผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรับแก้ตามข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) แล้ว

ดีอีเอสเร่งดันกม.ขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล

โดยที่ผ่านมาได้เร่งให้ คธอ. ออก พรฎ. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พรบ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาตลอด เนื่องจากเห็นว่า พรบ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ออกมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ซึ่งกระบวนการพิจารณาร่าง พรฎ. ดังกล่าวนั้นคาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน ก่อนนำเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ทันที

 “สาระหลักของ พรฎ.ดังกล่าวนั้นประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะต้องมีการจดแจ้งเพื่อให้ทราบว่าทำธุรกิจอะไรให้บริการอะไร เพื่อให้สามารถติดตาม หรือสามารถติดต่อได้ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนธุรกิจที่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน หรือ ขออนุญาต ขณะนี้กำลังพิจารณาในรายละเอียด เช่น แพลตฟอร์มให้บริการการเงินดิจิทัล ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการฉ้อโกง หรือ อาหาร และยา ที่ขายผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้บริโภค”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาไทยเปิดกว้างให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศเข้ามาบริการ ซึ่งคนไทยก็เปิดรับเทคโนโลยีรวดเร็ว โดยคนไทยใช้ชีวิตดิจิทัลเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามจุดอ่อน คือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งหมดเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด หากไม่มีกฎหมายมาดูแลน่าเป็นห่วงว่าบริการดิจิทัลจะถูกครอบงำโดยต่างชาติทั้งหมด รวมถึงกระทบกับความมั่นคงเศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันที่เป็นธรรมกับธุรกิจของไทย ซึ่งการเข้ามาให้บริการในไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า กล่าวว่าเอ็ตด้า ได้นำเสนอ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลต ฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .… มายังกระทรวงดีอีเอสเพื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน เบื้องต้น ร่าง พรฎ. ดังกล่าวมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลไทยและต่างประเทศ ทั้งอีมาร์เก็ตเพลส อีคอมเมิร์ซ โซเชียล มีเดีย บริการ OTT หรือ วิดีโอและเพลงสตรีมมิ่ง จะต้องแจ้งมายังเอ็ดต้าก่อนว่าให้บริการอะไร ขนาดธุรกิจเท่าไร หากเกิดปัญหาบริการขึ้นจากสามารถติดต่อกับบุคคลใด ที่ไหน

ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้ให้บริการเข้ามาแจ้งข้อมูลจำนวนมากๆ ส่วนธุรกิจที่ทำธุรกรรมซื้อขายสินค้ากับผู้บริโภคโดยตรง ไม่จำเป็นต้องมาแจ้ง หรือพ่อค้า แม่ค้าที่ขายของผ่านโซเชียล ไม่ต้องแจ้ง อย่างไรก็ตามหากบริการธุรกิจดิจิทัลใดมีปัญหา และส่งผลกระทบมาก พรฎ.ดังกล่าวก็เปิดช่องให้ออกเป็นประกาศเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาต ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในระยะถัดไป