ดีอีเอส รับมอบระบบเทเลเมดิซีนหนุนภารกิจรักษาผู้ป่วยโควิด

20 ก.ค. 2564 | 17:54 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 01:17 น.

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส รับมอบระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine Kaitomm (ไข่ต้ม) Hospital ที่พัฒนาโดยบริษัทไทย พร้อมแท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษ 10 เครื่อง เพื่อประยุกต์ใช้ในงานภาคสนามภายใต้ภารกิจสู้โควิด-19

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่สนับสนุนให้มีการบูรณาการความร่วมมือนำทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและบุคลากร เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในภารกิจการทำงานด้านสาธารณสุขภาคสนามสู้โควิด-19 ล่าสุดมีภาคเอกชนทั้งค่ายไอทีไทย-เทศ เดินทางเข้าพบเพื่อสาธิตระบบการทำงานของแอปพลิเคชันด้านการแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) พร้อมมอบไลเซ่นอนุญาตการใช้งาน และมอบเครื่องแท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษ เพื่อให้กระทรวงฯ นำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่อไป

ทั้งนี้ นายณชพล สองทิศ บริษัท อาร์ ที เอส (2003) จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบการด้านผู้รวบรวมระบบ (System Integrator) ประสบการณ์ 17 ปี พร้อมด้วย ดร. มหิศร ว่องผาติ จากบริษัทพันธมิตร บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบแอปพลิเคชันสำหรับติดต่อสื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และโรงพยาบาล ชื่อ Kaitomm (ไข่ต้ม) Hospital ซี่งมีคุณสมบัติการใช้งานสอดคล้องกับภารกิจช่วยเหลือบุคลากรการแพทย์ ในการเพิ่มระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพสูง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ทั้งนี้ ระบบการทำงานของ “ไข่ต้ม”Hostpital สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานภาคสนามภายใต้ภารกิจของดีอีเอส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การบริหารจัดการระบบและอุปกรณ์สื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และโรงพยาบาล  เพื่อลดการสัมผัสของบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล ติดตามรักษาอาการของคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ส่งผลให้การติดเชื้อจากการรักษาของบุคลากรทางการแพทย์ลดลง ติดตามอาการผู้ป่วยได้ใกล้ชิดขึ้น และรักษาอาการของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

โดยระบบ Telemedicine สื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ผ่านทางการโทรวีดีโอคอล (VDO Call) โดยเครื่องของผู้ป่วยที่ใช้ในสถานพยาบาลสามารถรับสายอัตโนมัติได้ ซึ่งทำให้นอกจากจะสามารถใช้ระบบนี้ในการติดตามผลการรักษาแบบ Interactive Communication แล้ว ยังสามารถใช้ในการเฝ้าดู/ติดตามอาการของผู้ป่วยจากระยะทางไกล (Remote Monitoring) ในลักษณะเดียวกับ Mobile CCTV ด้วย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในห้องฉุกเฉิน, ห้องแยกโรค, ห้องความดันลบ, หอผู้ป่วยรวม (โควิด-19), ห้องผ่าตัด, หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต (ICU), โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

ดีอีเอส รับมอบระบบเทเลเมดิซีนหนุนภารกิจรักษาผู้ป่วยโควิด

“ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด และบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด มอบระบบ Telemedicine Kaitomm (ไข่ต้ม) Hospital จำนวน 100 ลิขสิทธิ์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมโปรแกรมสำหรับผู้ป่วยแบบไม่จำกัดผู้ใช้งาน และอุปกรณ์แท็บเล็ตรุ่นทนทานพิเศษ Samsung Galaxy Tab Active 3 ที่มีคุณสมบัติเด่นเรื่องความทนทาน กันน้ำ กันฝุ่น และทนการกระแทก จำนวน 10 เครื่อง ให้กับกระทรวงฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่อไป” นายชัยวุฒิกล่าว