แนะองค์กรเร่ง ‘Digital Transformation’ ก่อนถูกดิสรัปชัน

23 พ.ค. 2564 | 05:10 น.

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจไทยต้องมีการปรับตัว หรือทรานส์ฟอร์เมชันไปสู่ดิจิทัล และต้องก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงมีผลถึง 18-40 เท่า อาทิ การทำงานทางไกลแบบ Remote work ความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาทำให้สิ่งต่างๆ ในประเทศไทยหมุนเร็วขึ้น องค์กรต้องมีการปรับตัวรวมถึงอุตสาหกรรมในแนวกว้างที่ส่งผลกระทบ และต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

“โควิด-19 ไม่เพียงแต่เป็นตัวที่สร้างผลกระทบเท่านั้น จากงานวิจัยจะเห็นว่าในปี 2561 บริษัทด้านเทคโนโลยีหรือผู้นำด้านดิจิทัล สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าบริษัทที่ไม่ใช้เทคโนโลยีถึง 2 เท่าโดยข้อมูลล่าสุดจะเห็นว่า TOP 10 บริษัท ที่เป็นผู้นำด้าน ดิจิทัลสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ได้ถึง 5 เท่า ขณะที่ผลสำรวจพบว่าประเทศไทยยังค่อนข้างขาดแคลนผู้นำด้านดิจิทัล โดยประเทศไทยมี Digital Adopter 22% ขณะที่ทั่วโลกมี 23% และ Digital Leader มีเพียง 3% เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มีประมาณ 5%”

ทั้งนี้สถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผล กระทบต่อไทยและทั่วโลกทุกองค์กรต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเร่งให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่ผ่านมา เอไอเอสได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโรงพยาบาลสนามมากกว่า 31 โรงพยาบาลสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI ในการทำ CT Scan ปอด การสร้างแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน อสม ออนไลน์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็ว ลดการทำงานของแพทย์ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

 

แนะองค์กรเร่ง  ‘Digital Transformation’ ก่อนถูกดิสรัปชัน

 

 

นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ หรือ Digital Yacht Quarantine เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการใช้เทคโนโลยีเครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ทำให้ผู้ประกอบการในภูเก็ตสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการท้องถิ่นและเกิดเงินหมุนเวียนในโครงการกว่า 650 ล้านบาท รวมถึงการเปิดตัวแพลตฟอร์ม V-Avenue.Co หรือ Virtual Avenue แห่งแรกของโลก ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G และ VR มาต่อยอดสร้างประโยชน์ในอุตสาหกรรมค้าปลีก เชื่อมต่อธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดพื้นที่ให้กับ SME รายย่อยมากกว่า 210 ร้านค้า โดยปัจจุบันมียอดคนเข้าชมกว่า 1 ล้านคน

 

สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวไปสู่ดิจิทัลของเอไอเอส ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. Optimize Core Business เนื่องจากธุรกิจหลักคือ การให้บริการทางด้านโทรคมนาคม โดยจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการมากขึ้น และมุ่งเน้นการให้บริการด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก 2. Build Growth Engine ปัจจุบันฟิกซ์บรอดแบนด์เป็นบริการที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมากจากความจำเป็นในการใช้งานของผู้บริโภคในยุค New Normal ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญ ในการพาร์ทเนอร์กับองค์กรด้านเทคโนโลยีต่างๆ และ 3. Invest in Future โดยเอไอเอสได้มีการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น สร้างการขับเคลื่อนใหม่ๆ ในบริการดิจิทัล

 

ปัจจุบันเอไอเอส ถือครองคลื่นความถี่ 5G ครบทั้ง 3 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz หากรวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330* MHz และมีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G, 4G และ 5G รวม 1420 MHz ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะสามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนไทยและภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตามเอไอเอสมีความตั้งใจที่ก้าวสู่ผู้ให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Service Provider) ด้วยการสร้างดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้าง Inno vation DNA และธุรกิจใหม่ๆ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างความพร้อมให้กับพนักงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการรองรับธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากพาร์ทเนอร์ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,681 หน้า 16 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2564