ชงรัฐบาลออกมาตรการ เรียกเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัล

01 ก.พ. 2564 | 15:35 น.

ดีป้า เผยผลสำรวจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยยังไม่มีความเชื่อมั่น จากภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คาดปี 64 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แนะรัฐบาลออกมาตรการเสริมสภาพคล่องหนุนสร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ

 

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยว่า การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ Digital Industry Sentiment Index นั้นเป็นการสำรวจกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม ดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลเซอร์วิส หรือดิจิทัลสตาร์ทอัพ ที่ส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมนี้จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีประมาณ 1.2-1.3 แสนราย ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจต่อ GDP ไทยที่มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท

 

ชงรัฐบาลออกมาตรการ เรียกเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัล

 

 

ทั้งนี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำไตรมาส 4 ของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 49.8 ในไตรมาสก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยยังไม่มีความเชื่อมั่น จากการต้องเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 ความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 53.7 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน

 

สำหรับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลนั้นมองว่าการลงทุนเพิ่มเป็นโอกาสในการขยายตลาดโดยคาดการณ์ ว่าความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นเป็น 57.7 จาก 56.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ความวิตกกังวลด้านต้นทุนของผู้ประกอบการนั้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิตคาดว่าจะลดลงจาก 44.3 เหลือ 37.8 เพราะถึงแม้จะมีโอกาสในการสร้างรายได้แต่การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้องมีการแข่งขันเชิงต้นทุน อีกทั้งอุปสรรคที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคือ การจ้างแรงงาน เนื่องจากขาด แคลนบุคลากรหรือกำลังคนที่ตรงตามสายงาน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี 5G แอพพลิเคชันเอไอ และคลาวด์คอมพิวติ้ง

 

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยต้องการที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 แต่จะเห็นว่าอุตสาหกรรมหลักของไทยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. อาหาร 2. สิ่งทอ 3. อิเล็กทรอนิกส์ 4. ยานยนต์อุปกรณ์ชิ้นส่วนและการประกอบ 5. เครื่องจักรกล ส่วนใหญ่นั้นยังอยู่ในระดับ 1.0 ซึ่งยังมีแนวโน้มและโอกาสในการที่จะเข้าไปทรานส์ฟอร์มให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทั้งดาต้า เอไอ และแมชชีน เลิร์นนิ่งมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในอีก 5-10 ปี ผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั้นมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงานมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว

 

 

 

“จะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือและผลักดันให้ความเชื่อมั่นนั้นกลับมาด้วยการเพิ่มมาตรการต่างๆ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การคํ้าประกันสินเชื่อ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่มี Fixed Asset สามารถใช้หลักทรัพย์อื่นหรือวิธีการอื่นเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเตรียมการรองรับการผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงการส่งเสริมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างพันธมิตรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการทำงานที่ทำให้เกิดเน็ตเวิร์ก มีการรวมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัลมาทำงานร่วมกันผ่านการร่วมทุน Joint Venture ซึ่งทางดีป้าจะดำเนินการในช่วง 3-4 เดือนนี้” ผอ.ดีป้า กล่าว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,648