อ.เจษฎา ย้ำ!! “ชุดตรวจโควิด” ห้ามซื้อตรวจเองที่บ้าน

05 ม.ค. 2564 | 16:49 น.
2.0 k

อ.เจษฎา ย้ำ!! “ชุดตรวจโควิด” เป็นการสกรีนเบื้องต้นและความแม่นยำต่ำ ระบุการตรวจต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการค้าเท่านั้น ไม่ควรซื้อไปตรวจเองที่บ้าน

     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หวาดวิตกว่าอาจได้รับเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ  ประกอบกับค่าบริการในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ละโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หลายองค์กรหรือบริษัทจึงได้มีการคิดค้นและพัฒนาชุดตรวจหาโควิดแบบ Rapid Test ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในจุดนี้ ที่เห็นได้จากการจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชียลในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยที่ผู้ใช้อาจยังไม่รู้ข้อเท็จจริงที่สำคัญในการใช้งานชุดตรวจโควิด ดังกล่าว

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีอนุมัติให้ใช้ "ชุดตรวจโควิด" ได้หลายยี่ห้อแต่ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการค้าเท่านั้น ไม่ให้ซื้อไปใช้เองที่บ้าน สำหรับเรื่องของความแม่นยำเมื่อเทียบกับวิธี Swap Test ปกติพวกนี้จะมีความแม่นยำต่ำกว่า เป็นเพียงการสกรีนเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในการตรวจยืนยัน ยังคงต้องใช้วิธี PCR Test เป็นหลัก ซึ่งหากมีประชาชนทั่วไปซื้อไปใช้ตรวจเองแล้วไม่พบเชื้อทำให้เกิดความชะล่าใจอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงมีการห้ามจำหน่าย แต่ก็ยังมีการลักลอบจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก  

      สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ทาง อย. ก็ได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับชุดตรวจโควิด  Rapid Test ออกมาโดย Rapid Test นั้น เป็น ชุดทดสอบโควิด-19 อย่างง่าย และรวดเร็วเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฎิบัติการ ที่ทราบผลได้ภายใน 10 - 30 นาที เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ 

แต่ถึงแม้ว่าค่าผลตรวจเป็นบวก ใช่ว่าจะแปลว่าป่วย และค่าผลตรวจเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ โดยการตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) ต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 - 14 วัน ถึงจะตรวจได้ผลที่แม่นยำ ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) จะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้น

     อย่างไรก็ตามชุดตรวจ Rapid Test โควิด -19 ต้องผ่านการรับรองจาก อย. โดยให้จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ , โรงพยาบาลทั่วไป , โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม , คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม , คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก โดยการตรวจต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อมาตรวจเอง