เมื่อโควิด-19 เร่งการเติบโตของดิจิทัล พื้นที่ทำงานในอนาคต ควรเป็นอย่างไร

17 ก.ย. 2563 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2563 | 19:12 น.

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดมุมมอง 'The Future Workspace' ชวนออกแบบและปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานให้ตอบโจทย์คนยุคดิจิทัล ในงาน ‘STARTUP THAILAND 2020 x INNOVATION THAILAND EXPO 2020’

“พื้นที่ทำงาน” ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หากถามถึง “พื้นที่ทำงานในอนาคต” จะเป็นรูปแบบใด โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของผู้คน ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ชวนคิดสร้างสรรค์และออกแบบพื้นที่ทำงานในอนาคต หรือ 'The Future Workspace' ผ่านเวที ‘STARTUP THAILAND 2020 x INNOVATION THAILAND EXPO 2020’ พาย้อนอดีตไปศึกษาวิวัฒนาการ และแนวคิดการออกแบบพื้นที่ทำงานในยุคต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบพื้นที่ทำงานในอนาคต ที่จะตอบโจทย์การทำงานยุคดิจิทัล

รู้จัก Workspace

Workspace หรือพื้นที่ทำงาน โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ People คนที่ทำงาน ซึ่งในยุคนี้อาจมีการใช้หุ่นยนต์ด้วยในบางธุรกิจ, Process แบบแผนในการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือถ้าเป็นโรงงาน อาจเป็นการประกอบชิ้นส่วน สุดท้ายคือ Platform เป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้คนทำกิจกรรมทางธุรกิจ ทั้ง Offline Platform เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน และปัจจุบันมี Platform แบบ Online ทำงานหรือประชุมกันผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งองค์กรต้องคำนึงถึงในการออกแบบพื้นที่ทำงาน

จากออฟฟิศแบบฉากกั้น สู่พื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง

พื้นที่ทำงานเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากยุค 2.0 มีทั้งโรงงานและส่วนออฟฟิศรวมอยู่ด้วยกัน ต่อมามีการจัดแบ่งที่นั่งทำงานในพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ จากนั้นปรับลดพื้นที่ลงและมี partition กั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว ซึ่งพัฒนามาเป็นออฟฟิศแบบคอก หรือ CUBICLE FARM ในยุค 3.0 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพื้นที่ทำงาน พร้อมการมาของ Wi-Fi ทำให้เกิด Open Space Office เป็นบรรทัดฐานออฟฟิศสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมี Casual Office อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอน วัลเลย์ ที่ผสานชีวิตทำงานกับชีวิตส่วนตัวไว้ด้วยกัน  ในปีค.ศ.1995 Co-working space ได้เกิดขึ้นจากเหล่าโปรแกรมเมอร์ที่มานั่งทำงานแบบเป็นกันเอง จนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปีค.ศ. 2008 Co-working space เป็นทางเลือกของหลายบริษัทที่ต้องการลดต้นทุน เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าตกแต่งและค่าเช่าพื้นที่ระยะยาว ทั้งยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี

Co-working space จะเป็นพื้นที่ทำงานในอนาคตหรือไม่

แม้ว่า Co-working space จะตอบโจทย์เรื่อง Productivity และ Cost Efficiency หรือความคุ้มค่าในการใช้เงิน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจทุกยุคทุกสมัย แต่เทรนด์วิถีการทำงานก็เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งองค์กรธุรกิจควรพิจารณาแนวทาง 3 เรื่องด้วย ได้แก่ Financial Sustainability  การลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงเท่าที่เป็นไปได้ Flexibility ความยืดหยุ่นในด้านพื้นที่ทำงาน การทำงานที่ออฟฟิศ, Work from Home หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วย และ Individual Realization เมื่อคนทำงานจากที่บ้าน มีเวลาอยู่กับตัวเอง และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานจะควบรวมกันไป ทำให้พนักงานรู้จักตัวเองมากขึ้น มี  Self-Realization  ส่งผลต่อพื้นที่ทำงานโดยตรง องค์กรจึงต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถออกแบบพื้นที่ทำงานได้ตรงใจพนักงานและตอบโจทย์เป้าหมายของธุรกิจ

 

พื้นที่ทำงานในอนาคต ไม่มีสูตรตายตัว

การออกแบบพื้นที่ทำงานในอนาคตย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ จึงไม่มีสูตรตายตัว แต่บิ๊กดาต้าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถออกแบบพื้นที่ทำงานได้อย่างเหมาะสมตรงใจพนักงานและตรงโจทย์ธุรกิจ ดังนั้น องค์กรจึงควรเก็บข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณงานของพนักงานแต่ละคน, ข้อมูลสุขภาพร่างกายและจิตใจ, Self-Realization ตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน, บุคลิกภาพ, ข้อมูลการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของบริษัท รวมถึงผลประกอบการของธุรกิจ เพื่อข้อมูลนำมาใช้ในการออกแบบและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความสมดุลที่ลงตัว ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบพื้นที่ทำงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืนของธุรกิจ 

เมื่อโควิด-19 เร่งการเติบโตของดิจิทัล พื้นที่ทำงานในอนาคต ควรเป็นอย่างไร

ด่วน! เครือซีพี ประกาศรับคนเพิ่ม 28,000 อัตรา

ทรู ส่งหนังโฆษณาชุดใหม่หวังปลุกกระแส 5G

 

“ทรูมันนี่” จับกลุ่มลูกค้าทรูมูฟ เอช ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 10,000 บาท

เปิดวิธียืมเงินทรู10,000 บาท ไม่มีดอกเบี้ย