ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำ “AI” วางแผนรักษามะเร็ง

23 มิ.ย. 2563 | 17:58 น.
610

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสถาบันการแพทย์ชั้นนำ ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวางแผนรักษามะเร็ง หรือ Watson for Oncology ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค็อกนิทิฟ คอมพิวติ้งบนระบบคลาวด์มาใช้ เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยในการวินิจฉัยและเสนอทางเลือกการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนบริการทางการแพทย์และส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านการศึกษาวิจัยแก่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสถาบันสู่ความเป็นเลิศในด้านการให้บริการรักษาโรคมะเร็งของประเทศไทย

พร้อมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการวางแผนการรักษามะเร็งที่ได้มาตรฐานสากล สนองพระดำริ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม และให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม จนปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียอันดับหนึ่งของประชากรชาวไทย โดยในปี 2562 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในไทยถึง 122,757 ราย ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในปีเดียวกันนี้อยู่ที่ 80,665 ราย  การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจค้น รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขาดแคลนและอยู่ห่างไกลความเจริญไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน

จากวิสัยทัศน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ชั้นนำ มุ่งให้บริการสุขภาพแก่คนไทยอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้ ยกระดับการรักษา และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทัดเทียมกัน ได้เดินหน้าภารกิจในการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาเสริมประสิทธิภาพในการวางแผนดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย

 

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด และคณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ได้กล่าวถึงการนำเอาเทคโนโลยีล่าสุด ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวางแผนรักษาโรคมะเร็ง หรือ Watson for Oncology เข้ามาให้บริการที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ว่า “ด้วยพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประชาชนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เองก็เติบโตมาจากการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งและพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งเป็นสถาบันการศึกษาวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เราได้เดินหน้าภารกิจเพื่อสานต่อการดำเนินงานจากพระนโยบายขององค์ประธานที่จะนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการเเพทย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562) มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น 23% หรือประมาณ 4,000 รายต่อปี โดยผู้ป่วยมะเร็งทุกรายที่เข้ามาที่เราจะได้รับการพิจารณาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาของการประชุมวางแผนรักษาโรคมะเร็งหรือ Tumor Board ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวางแผนรักษาโรคมะเร็ง หรือ Watson for Oncology นับเป็นอีกก้าวสำคัญของสถาบันที่จะนำเทคโนโลยีในระดับสากลมาช่วยเสริมศักยภาพในการวางแผนรักษามะเร็งให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้สามารถก้าวทันความรู้ทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าและสามารถระบุแนวทางการรักษาที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การรักษาที่ดีเยี่ยมและเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง และท้ายที่สุดก็จะเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างความเป็นเลิศทางการรักษามะเร็ง”

“ไอบีเอ็มรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้นำประสิทธิภาพของเทคโนโลยีวัตสันเข้าสนับสนุนวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อต่อยอดความเป็นผู้นำด้านการรักษามะเร็ง” นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอบีเอ็มประเทศไทย กล่าว“เทคโนโลยี IBM Watson for Oncology จะช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกให้กับแพทย์ของจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยบนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐาน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถทุ่มเทเวลาไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยในระยะยาว เราหวังว่าการนำเทคโนโลยีขั้นสูงของวัตสันมาผนวกรวมกับความเชี่ยวชาญเชิงลึกของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นการส่งเสริมให้การรักษามะเร็งในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ถือเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Watson for Oncology มาใช้ในการวางแผนรักษาแก่ผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงบูรณาการความร่วมมือทางการแพทย์ในการเปิดให้โรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เข้าถึงบริการของระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวผ่านหน่วยการวางแผนรักษาโรคมะเร็งหรือ Tumor Board ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์การรักษาได้เข้าถึงการวางแผนการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้เทคโนโลยี Watson for Oncology จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการสนับสนุนงานด้านวิจัย และการศึกษาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในอนาคต เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เเพทย์เเละบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพได้เรียนรู้พัฒนาตนเองเเข่งกับเทคโนโลยีมาตรฐานระดับโลก รวมถึงนำมาช่วยในด้านการศึกษาของหลักสูตรเเพทย์ประจำบ้านฝึกอบรมสาขาต่อยอดด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาซึ่งเป็นเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ทั่วไปได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงซึ่งนับเป็นที่เเรกในประเทศไทยอีกด้วย