นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของยอดคำสั่งซื้อถึง 95% ขณะที่ยอดขายที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นสินค้าที่ขายออกไปได้อยู่ที่ประมาณ 80% ตัวเลขที่ต่างกันบ่งบอกว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์และมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าออนไลน์ที่มากขึ้น แต่ทว่ากลับมีช่องว่างคือสินค้าที่มีให้ลูกค้าได้เลือกอาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบันลาซาด้ามีระบบนิเวศที่แข็งแกร่งที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีที่ผ่านมาลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานสูงที่สุดในประเทศ ไทย มีการเข้าเยี่ยมชมกว่า 300 ล้านครั้งต่อเดือน และมีจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 25 ล้านคน ทั้งนี้ 46% ของการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยนั้นคือการเข้ามาบนแพลตฟอร์มลาซาด้า ทำให้ปัจจุบันลาซาด้าเป็นแอพพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด และเป็นแฟลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในประเทศ ไทย รวมถึงมีผู้ติดตามบนโซเชียล มีเดีย 4 ช่องทางคือ เฟซบุ๊ก 29 ล้านคน อินสตาแกรม 1.74 แสนคน ไลน์ 20 ล้านคน และยูทูบ 1.25 แสนคน
สำหรับ “Lazada Ignite 2020 MEGA Seller Conference” ในปีนี้นั้นลาซาด้าได้เปลี่ยนจากการเข้าร่วมงานที่ไบเทค บางนา เป็นการรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ของลาซาด้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการนำเทคโนโลยี Live streaming ถ่ายทอดทักษะความรู้และเครื่องมือที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่แคมเปญมหกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ 11.11 นั้นได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง โดยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าเพียง 1 วันมีผู้บริโภคเข้ามาชมแอพพลิเคชันของลาซาด้าจำนวนมาก ร้านค้าเองก็ต้องมีการเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานเพื่อรองรับดีมานด์ที่เกิดขึ้นในช่วงแคมเปญดังกล่าว เนื่องจากมหกรรมการ Shopping 11.11 นั้นมีประชากรไทยกว่า 10% เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มลาซาด้า โดยมีร้านค้าที่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 100,000 บาท ภายใน 1 วันมากถึง 900 ร้านค้า และร้านค้ากว่า 3,500 ราย ที่สามารถทำรายได้ใน 1 วันได้สูงกว่ายอดขายรวมทั้งเดือน โดยเป็นการทำยอดขายได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งเดือนที่เคยทำได้ 11.11 เป็นโอกาสในการสร้างยอดขายให้กับร้านค้าบนแพลตฟอร์ม
“พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ค่อนข้างซับซ้อนคนส่วนมากเมื่อตื่นมาก็มีการใช้เวลาไปบนโทรศัพท์มือถือและโซเชียล มีเดีย โดยมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ลาซาด้าจึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมในทุกด้าน ปัจจุบันลาซาด้ามีสินค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 200 ล้านชิ้นใน 6 ประเทศ และในแง่ของผู้ใช้งานโตกว่า 100% ปีต่อปี หรือ 2-3 ดิจิต”
อย่างไรก็ตาม ลาซาด้า เน้นการพัฒนาบริการแบบ end to end รวมถึงบริการหลังการขาย การพัฒนาระบบและโซลูชัน เพื่อช่วยเหลือร้านค้าโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มของลาซาด้า และมีความร่วมมือจากพันธมิตรหรือธนาคารต่างๆ ทำให้ลาซาด้ามีเครือข่ายทางด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการเงินให้กับร้านค้าโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยที่ธนาคารจะใช้บิ๊กดาต้าดูยอดการขายสินค้ารวมไปถึงเรตติ้งของร้านค้าบนลาซาด้าในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563