เตือนหลอกขาย สมาร์ทโฟนมือ2 เกลื่อนโซเชียล

28 ม.ค. 2563 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2563 | 17:38 น.
1.7 k

เตือนภัยมิจฉาชีพ หลอกขายสมาร์ทโฟนมือถือออนไลน์ ตลาดโฟน ระบุถูกมือดีก๊อปรูปภาพหน้าเพจ สวมรอยหลอกขายสินค้า คาดมูลค่าเสียหายทั้งตลาดสมาร์ทโฟนมือสองบนออนไลน์ไม่ตํ่ากว่า 50 ล้านบาท ด้านเฟซบุ๊ก แจงพร้อมลบ-แบนคอนเทนต์ หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ ปอท. เผยสถิติการรับแจ้งความเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงหลอกให้โอนเงินผ่านออนไลน์สูงขึ้นมาเป็นเท่าตัว

 

ดร.ไชยพงศ์ อัครกิตติ์จินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดโฟน ดอทคอม จำกัด ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือสองออนไลน์ เปิดเผยว่า สมาร์ทโฟนมือสอง เป็นสินค้าที่ถูกมิจฉาชีพล่อลวง ผู้บริโภคมากสุดบนออนไลน์ และโซเชียล โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับความเสียหายจากการถูกมิจฉาชีพลักลอบ นำข้อมูล รูปภาพไปใช้ทำเพจปลอม และลักลอบติดต่อล่อลวงลูกค้า โดยเสนอราคาที่ตํ่ากว่า หรือ เงื่อนไขที่ดีกว่า อาทิ จ่ายดาวน์ล่วงหน้า 3 เดือน รับเครื่องไปใช้ทันที เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 4-5 ล้านบาท หากนับเฉพาะ รายใหญ่ที่ขายมือถือมือสองในออนไลน์แล้ว คาดว่ามูลค่าความเสียหายมากกว่าปีละ 50 ล้านบาทแน่นอน

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

● ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)

● คนอู่ฮั่น ตะโกนลั่นเมือง "อู่ฮั่นสู้ตาย"(มีคลิป)

● จี้แลกรถเก่า ดีเซล4ล้านคัน ลดฝุ่นPM2.5

ตอนนี้ผู้ค้าสมาร์ทโฟนมือสองที่ขายผ่านทางออนไลน์ และโซเชียล ส่วนใหญ่จะถูกมิจฉาชีพก๊อบปี้ข้อมูลไปสวมรอยติดต่อให้ลูกค้าโอนเงินให้ และไม่มีการส่งสินค้าให้ลูกค้า โดยเกิดมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาทในแต่ละปี ไม่เฉพาะสมาร์ทโฟนมือสองเท่านั้น แต่ของแบรนด์เนมต่างๆ เช่น กระเป๋าสุภาพสตรีราคาแพง ไปจนถึงเสื้อผ้า และของใช้ต่างๆ ก็มีการโกงประเภทนี้ จนทำให้เกิดมีเว็บเช็กคนโกงออนไลน์ขึ้นหลายเว็บเพื่อเป็นแหล่งตรวจสอบข้อมูลสำหรับนักช็อปออนไลน์

“ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่สังคมเริ่มมีการตรวจสอบและให้ความสำคัญกับการโกงออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเองควรป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน ด้วยการเช็กประวัติผู้ขายให้แน่ใจ ไม่ควรเชื่อรีวิว 100% เพราะอาจเป็นรีวิวที่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงก็ได้ นอกจากนี้ควรซื้อขายกับผู้ขายหรือร้านค้าที่มีตัวตนจริง สามารถตรวจสอบได้ 100%”

ด้านตัวแทนจาก Facebook กล่าวว่า เราต้องการให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยเมื่อใช้งาน Facebook จึงเป็นเหตุผลที่เราสร้างมาตรฐานชุมชนและนโยบายการโฆษณา เพื่อช่วยระบุว่าข้อมูลประเภทใดที่เราไม่อนุญาตให้ส่งต่อหรือโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Facebook รวมถึงข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อจัดการกับข้อมูลลวงและการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เราได้ปรับใช้มาตรฐานชุมชนของ Facebook กับทุกส่วนบนแพลตฟอร์ม รวมถึง Facebook Live ด้วย ทันทีที่เราตรวจจับคอนเทนต์ซึ่งมีลักษณะขัดต่อนโยบายของเรา เราจะลบคอนเทนต์ นั้นๆ จากแพลตฟอร์มทันที

 

 

“หนึ่งในความมุ่งมั่นของเราที่มีอย่างต่อเนื่องคือการสร้างและรักษาชุมชนให้ปลอดภัย เราได้ริเริ่มโครงการมากมาย เช่น We Think Digital Thailand ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ที่จำเป็นให้กับคนไทย โดยรวมถึงวิธีตรวจจับและสังเกตการกระทำที่น่าสงสัย ตลอดถึงการรักษาข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัยอีกด้วย”

ส่วน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่าเรื่องฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีสถิติการรับแจ้งความเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงหลอกให้โอนเงินผ่านออนไลน์สูงขึ้นมาเป็นเท่าตัวเทียบแต่ละเดือนคิดเป็นจำนวนกว่า 100% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าตกใจมาก

 

“ถ้ารู้ตัวเองว่าถูกแฮกบัญชี เฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ ให้แจ้ง 3 ส่วน คือ 1. แจ้งเพื่อนก่อน เพื่อทราบว่า เฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ ถูกแฮก แจ้งในช่องทางไหน
ก็ได้ 2. รีบแจ้งเจ้าของผลิตภัณฑ์ทะเบียน Facebook Report Line Report รายงาน เพื่อระงับการใช้บัญชีนั้น และ 3. แจ้งความกับพนักงานสอบสวน อาจจะเอามือถือหรือคอมพิวเตอร์มาด้วยถ้าสะดวกที่ท้องที่เกิดเหตุและยินดี แต่ถ้าจะมา บก.ปอท. ก็ได้เลย เรามีทั้งฝ่ายสืบสวน และฝ่ายสอบสวนดูแลอยู่”

และขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังถูกหลอกผ่านโลกออนไลน์คืออย่าไว้ใจร้านค้าหรือบุคคลที่ชักชวนให้ลงทุนโดยขอให้ตรวจสอบประวัติและข้อมูลให้ชัดเจน อย่าวู่วามเห็นแก่ของถูกหรือผลประโยชน์ที่ร้านค้าเสนอแล้วรีบโอนเงินทันที และอย่าละเลยข่าวสารเพราะอาจตกเป็นเหยื่อถูกฉ้อโกงบนโซเชียลได้ง่าย 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563