“สภาดิจิทัลฯ”รวมพลสมาชิกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ4.0

03 ต.ค. 2562 | 17:27 น.

หลังจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา 
โดย ดร.วีระ วีระกุล ผู้อำนวยการ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หรือ DCT กล่าวว่า  การพัฒนาด้านดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้กำลังคนและเงินทุนมหาศาล โดยการขับเคลื่อนของสภาดิจิทัลฯ ต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ผู้ใช้งานดิจิทัล รวมทั้งภาคสังคมที่ทุกกลุ่มต้องเล็งเห็นประโยชน์ของสภาดิจิทัลฯ ที่มีต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจ จึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ
 
 

“สภาดิจิทัลฯ ได้รับการโอนกิจการจากสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (The Thai Federation of ICT Technology Association หรือ TFIT) ปัจจุบัน มีสมาชิกที่เป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 22 สมาคม โดยมีบุคคลและนิติบุคคลกว่า 4,000 ราย อยู่ภายใต้สมาคมเหล่านี้ ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ด้านอุปกรณ์อัจฉริยะและด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล”

ทั้งนี้ บทบาทและหน้าที่ของสภาดิจิทัลฯ นั้น นอกจากเป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลในการเสนอความเห็น ประสานงาน และสนับสนุนการดำเนินงานด้านนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถทั้งของบุคลากรและผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก 7 ข้อ คือ (1) เป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ในการเสนอความเห็น ประสานงาน และ สนับสนุนการดำเนินงานด้านนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล (2) เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล (3) ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล (4) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านดิจิทัลให้มีมาตรฐาน (5) ส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล รวมท้ังควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาและกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล (6) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ (7) ดำเนินกิจการอื่นเพื่อการพัฒนาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
 

​ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า “ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศเราก้าวทันชาติมหาอำนาจด้านดิจิทัลอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้ ก็คือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนในชาติ ทั้งการพัฒนาระบบการศึกษาเรียนรู้ และการเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skilling) ให้กับประชาชนไทยทุกคน รวมทั้งการสร้างแบรนด์สินค้าดิจิทัลของไทยสู่การรับรู้ของผู้บริโภคทั่วโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาดิจิทัลฯ จะต้องได้รับการสนับสนุนและบริหารจัดการโดยองค์กรและบุคคลที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลในระดับโลก รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจในระดับนานาชาติและสายสัมพันธ์อันดีกับชาติมหาอำนาจด้านดิจิทัลเหล่านั้น”
 
​​ดร.วีระ วีระกุล กล่าวสรุปว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของการก้าวสู่ยุค 4.0 ผ่านสภาดิจิทัลฯ คือการมุ่งเน้นการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ ซึ่งการขับเคลื่อนของสภาดิจิทัลฯ ไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการด้านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเปิดให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน 

โดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่างๆ รวม 6 คน ได้แก่ 1.รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ 2.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม 3.นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายดิจิทัล 4.พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านธุรกิจการดูแลด้านสุขภาพ 5.นายรุจิระ บุนนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และ 6.รองศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสิทธิประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่าน ล้วนเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในแวดวงแต่ละด้าน ที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า กระบวนการผลักดันยุทธศาสตร์ต่างๆจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง