500 Tuk Tuks ปักหมุด 3 ปี แจ้งเกิดยูนิคอร์นไทย

22 พ.ค. 2562 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2562 | 16:39 น.

การสยายปีกธุรกิจของ “แกร็บ” แอพ บริการขนส่งออน ดีมานด์ สัญชาติสิงคโปร์ และโกเจ็ก แอพ บริการขนส่งออนดีมานด์ สัญชาติอินโดนีเซีย ไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสตาร์ตอัพที่สามารถระดมทุนไปถึงระดับยูนิคอร์น (มูลค่าระดมทุน 30,000 ล้านบาท) นั้นทำให้หลายคน กำลังตั้งคำถามว่าเมื่อไรจะถึงเวลาของสตาร์ตอัพไทย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาส สัมภาษณ์ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอบริษัทอุ๊คบีฯ (Ookbee) ในฐานะสตาร์ทอัพรายแรกๆ ของไทย และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks

อีก3ปีเกิด“ยูนิคอร์น”สัญชาติไทย

โดยณัฐวุฒิ กล่าวว่า อีกไม่เกิน 3 ปี คาดว่าประเทศไทยจะได้เห็นยูนิคอร์นตัวแรก โดยสตาร์ตอัพที่น่าจะได้เป็นยูนิคอร์นคงเป็นสตาร์ตอัพด้านอี-คอมเมิร์ซหรือฟินเทค เพราะตอนนี้มีสตาร์ตอัพหลายรายในพอร์ตโฟลิโอของกองทุน 500 TukTuks มีแนวโน้มของมูลค่าบริษัทที่เพิ่มขึ้นอยู่ในหลักหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถ้าเติบโตดับเบิลทุกปี หรือโตประมาณ 30% ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ประเทศไทยก็จะมียูนิคอร์นตัวแรกเกิดขึ้น

“คาดว่าอีกประมาณ 2-3 ปีน่าจะไปถึงยูนิคอร์นได้ โดยน่าจะมีสตาร์ต อัพประมาณ 2-3 ราย ที่เราจะเริ่มได้เห็นก่อน แต่อันนี้ก็พูดยากเพราะว่าระหว่างทางอาจจะมีอุปสรรคหรือมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น สำหรับสตาร์ตอัพที่มีแนวโน้มว่าจะได้เป็นยูนิคอร์นนั้น ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภายใน 1-2 ไตรมาสนี้น่าจะมีการเปิดเผยเกี่ยวกับการระดมทุนรอบใหญ่ซึ่งอาจจะทำให้ทราบว่าเป็นรายใด และมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่แล้วบ้าง ช่วงนี้ก็มีการทยอยปิดรอบระดมทุนกันอยู่”

500 Tuk Tuks ปักหมุด 3 ปี แจ้งเกิดยูนิคอร์นไทย

ทิศทางสตาร์ตอัพไทยหากมียูนิคอร์น

ถ้าประเทศไทยมียูนิคอร์นเกิดขึ้นจะส่งผลให้วงการสตาร์ตอัพไทยก้าวข้ามผ่านจุดที่คนไทยคุยกันว่าประเทศไทยยังไม่มียูนิคอร์น อีกทั้งในแง่การลงทุนยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในไทยจากเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมีสตาร์ตอัพขนาดใหญ่ที่ได้เป็นยูนิคอร์น

“สตาร์ตอัพไทย ทุกวันนี้เราคุยกันว่าเราไม่มียูนิคอร์น ซึ่งถ้ามีมันก็รู้สึกเหมือนว่ามันช่วยให้ผ่านตรงนั้นมาได้ ซึ่งต่อมาก็จะมาดูว่าสามารถสเกลไปได้ถึงไหน แน่นอนว่าถ้ามีก็จะช่วยในแง่ของความรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ในเมืองไทย กับสตาร์ตอัพไทยที่ไม่ได้มาจากต่างประเทศ อีกทั้งในแง่การลงทุนก็คงช่วยให้คนที่มาลงทุนรู้สึกว่าไทยเป็นตลาดโลคัลที่มีสตาร์ตอัพขนาดใหญ่ได้ นักลงทุนที่มีเงินทุนเยอะก็อาจจะอยากมาลงทุน นอกจากการไปเริ่มต้นที่อินโดนีเซีย”

ดัน 4 เซนทอร์สู่ยูนิคอร์น

ปัจจุบันกองทุน 500 TukTukss มีสตาร์ตอัพอยู่ในพอร์ตประมาณ 70 ราย โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้มี
สตาร์ตอัพที่ Exit ไปแล้วประมาณ 3-4 ราย รวมถึงมีเซนทอร์ หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ 4 ตัว ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพด้านฟินเทคและอี-คอมเมิร์ซ โดยเซนทอร์ 2 ใน 4 มีมูลค่าเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

 

ความสำเร็จสตาร์ตอัพไทย

หากมองว่าอัตราความสำเร็จคือไม่เจ๊ง ในพอร์ตโฟลิโอของ 500 TukTuks มีที่เจ๊งไปประมาณ 3-4 ราย จาก 70 กว่าราย ซึ่งก็เรียกว่าก็ทำได้ดี แต่ถ้าวัดความสำเร็จ คือ การระดมทุนในรอบถัดไปก็จะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 40 รายที่เราลงทุน แต่ถ้าบอกว่าความสำเร็จคือการเป็นเซนทอร์หรือยูนิคอร์นใน 500 TukTuks ก็จะมีเซนทอร์อยู่ 4 ตัว ก็ขึ้นอยู่กับว่าวัดความสำเร็จจากอะไรแต่ถ้านอกกองทุน หากวัดที่การระดมทุนจากนักลงทุนในรอบซีด คงมีไม่เกิน 100 รายในประเทศไทย”

ระดมทุนรอบซีดขาดความต่อเนื่อง

การขาดความต่อเนื่องในการระดมทุนรอบซีดนั้นอาจเป็นเพราะนักลงทุนในประเทศ จะมี Agenda ของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะขาด financial investor ที่เป็น VC ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แต่ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็น Corporate VC ที่จะมี Agenda เช่น บริษัท ปูนจะลงทุนในสตาร์ต อัพเกี่ยวกับการก่อสร้าง ธนาคารก็อาจจะลงทุนสตาร์ตอัพฟินเทค ซึ่งถ้าธนาคารคู่แข่งมีลงทุนแล้วอีกธนาคารหนึ่งก็จะไม่ลงในสตาร์ตอัพตัวเดียวกัน อีกทั้งธนาคารอื่นก็จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่คู่แข่งลงทุน จะเห็นว่าความเป็น คอร์ปอเรตมีความไม่เป็นกลางอยู่ รวมถึงมีอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นกลาง ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของตัวเอง ก็จะไม่เลือกลงทุนตรงนี้

 

ซูเปอร์แอพ ฝันร้ายสตาร์ตอัพ

อุปสรรคในรอบซีด ที่สำคัญคือการสเกล เนื่องจากหลังรอบซีด (Post seed) ต้องมีการหาผลิตภัณฑ์หลักๆเพื่อมาสเกล และระดมทุนในรอบซีรีส์ A ซึ่งต้องดูว่ามีลูกค้าที่สามารถจ่ายเงินเยอะพอที่จะนำเงินทุนเหล่านั้นมาใช้หรือไม่ ขณะที่การแข่งขันในปัจจุบันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ หลายแอพพลิเคชันที่เข้ามาจากทั่วโลกต่างก็อยากที่จะเป็นซูเปอร์แอพแม้กระทั่งองค์กรต่างๆ อย่างเช่น แอพพลิเคชันของธนาคารที่มีความสามารถมากขึ้น, แกร็บ ที่ให้บริการทั้งอาหาร ขนส่ง เพย์เมนต์ แอพจากต่างประเทศที่เมื่อมีฐานลูกค้ามากขึ้นก็จะเริ่มทำให้มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นการแข่งขัน สำหรับสตาร์ตอัพรายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะต้องหาตลาดของตัวเอง และต้องคอยระวังการแข่งขันจากเจ้าใหญ่ๆ ของต่างประเทศหรือว่าองค์กรที่กำลังปรับตัวในปัจจุบัน 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2562