หัวเว่ยคาดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 62 เพิ่มขึ้น 652 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เผย 3 ปีที่ผ่านมาร่วมกับบริษัทพันธมิตรกว่า 1,900 ราย สร้างงานมากกว่า 45,000 ตำแหน่งงานในบริษัทซัพพลายเออร์ของหัวเว่ย
มร.เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ของหัวเว่ยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ในปี 62 งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เป็น 652 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 608 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.88 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา เฉพาะในประเทศไทย มียอดสูงถึง 196.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,076 ล้านบาท ( 1ดอลลาร์เท่ากับ 31 บาท)ตามมาด้วยอินเดีย (146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และฮ่องกง (105.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2561 การจัดซื้อจัดจ้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดของหัวเว่ยมีมูลค่าสูงถึง 2,090 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
“ข้อมูลตัวเลขทั้งหมดนี้ได้รับการเปิดเผยในระหว่างงานประชุม 2019 SEA Core Partner Convention ของหัวเว่ย ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม การเปิดกว้าง ความโปร่งใส ความร่วมมือเพื่อความสำเร็จร่วมกัน - Openness, Transparency, Collaboration for Sharing the Success โดยมีตัวแทนกว่า 400 คน จากจำนวนซัพพลายเออร์ทั้งหมดของบริษัทกว่า 1,900 รายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ภาคการผลิต, โลจิสติกส์, บริการด้านวิศวกรรม, เครือข่ายเอ็นเตอร์ไพรส์, การตลาด เข้าร่วมงาน”
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การทำงานร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและบริษัทพันธมิตรกว่า 1,900 ราย ได้สร้างงานจำนวนมากกว่า 45,000 ตำแหน่งงานในบริษัทซัพพลายเออร์ของหัวเว่ย มีวิศวกรโทรคมนาคมในภูมิภาคนี้กว่า 125,000 คนได้รับการฝึกอบรม โดยวิศวกรกว่า 98,000 คนได้รับประกาศนียบัตรระดับมืออาชีพ หัวเว่ยได้มีการดำเนินการตรวจสอบระบบคุณภาพของพันธมิตรหลัก ๆ กว่า 300 ครั้ง ช่วยให้บริษัทพันธมิตรกว่า 130 แห่งผ่านมาตรฐาน ISO หรือการรับรองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ และเป็นจักรกลอันทรงพลังที่จะเชื่อมต่อนวัตกรรมและธุรกิจเข้าด้วยกัน หัวเว่ยและบริษัทพันธมิตรในภูมิภาคทำหน้าที่ส่งเสริมและเติมเต็มกันและกันได้อย่างดีเยี่ยม การสร้างและแบ่งปันคุณค่าตลอดทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมคืออนาคตของเรา เราควรจะผสานประสิทธิภาพด้านทรัพยากรอันเป็นเลิศของเรา และร่วมกันสร้างกลุ่มทรัพยากรคุณภาพสูงเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเราให้ดีขึ้น”
นายปิยะ จิราภาพงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทริน์คีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (TKC) ผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม และเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของหัวเว่ยในประเทศไทย กล่าว่า บริษัทเริ่มทำงานกับหัวเว่ยในปี 49 โดยความร่วมมือมาจากหลักการที่เหมือนกัน นั่นคือ การทุ่มเทอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อความสำเร็จของโครงการ ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันเป็นทีม การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับหนึ่งและเราก็หมายความตามนั้นจริงๆ สำหรับหัวเว่ยและ TKC เราทุ่มเทเต็มที่ให้กับลูกค้าเสมอ ความเป็นเลิศและความจงรักภักดีของลูกค้าคือรางวัลในตัวมันเอง
มร. เจสัน เฟิง ผู้จัดการฝ่ายขายและบริการลูกค้าระดับโลก ของคัมมินส์ ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ที่ต้องการยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยการทลายขีดจำกัดของพลังแห่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งอันเป็นหนึ่งเดียวกัน หัวเว่ยและคัมมินส์จึงได้บรรลุข้อตกลงด้านความร่วมมือระดับโลกร่วมกันในปี 51 การที่แบรนด์หัวเว่ยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หัวเว่ยสามารถแข่งขันในตลาดระดับบนได้ ในปี 62 คัมมินส์ ดีเคเอสเอช ประเทศไทย (CDT) จะสนับสนุนโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ BCH 4 ของ UIH ให้กับหัวเว่ย เรายินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานอันยอดเยี่ยมร่วมกับหัวเว่ย
“ปี 62 จะเป็นปีของเทคโนโลยี 5G ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีระดับชาติที่สำคัญที่สุด 5G จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในภูมิภาคนี้จะมีผู้ใช้ 5G สูงถึง 80 ล้านราย ปริมาณข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมากกว่า 20 เมือง และอุปกรณ์ดิจิทัลไร้สายที่มีความอัจฉริยะจะเพิ่มผลิตภาพทางสังคมได้มากขึ้น 4-8% โดยเฉลี่ย”