Facebook แนะวิธีรักษาบัญชีผู้ใช้ ปลอดภัยจาก "ฟิชชิ่งและสแกม"

14 ม.ค. 2562 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2562 | 06:31 น.
729
Facebook แนะนำวิธีรักษาบัญชีผู้ใช้ให้ปลอดภัยจากการหลอกลวงแบบ "ฟิชชิ่งและสแกม" หลังผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 44.5% ละเลยการตรวจสอบที่อยู่เว็บไซต์ที่พวกเขาใช้เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ ว่า ปลอดภัยหรือไม่



Facebook Security Essentials_Avoiding Phishing & Scams_Infographic_TH[39504]
รายงานข่าวจาก Facebook ระบุว่า ในประเทศไทยผู้คนเข้าใจความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์โดยทั่วไป แต่เมื่อนำความรู้นั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมักไม่เป็นไปตามสิ่งที่คิดไว้ การศึกษาเกี่ยวกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า 44.5% ละเลยการตรวจสอบที่อยู่เว็บไซต์ที่พวกเขาใช้เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ ว่า ปลอดภัยหรือไม่ และ 43% ยอมรับว่า เคยเปิดลิงก์และอีเมล์ที่ไม่น่าไว้วางใจมาก่อน ซึ่งต่างแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมที่แท้จริงของคนไทยนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด นอกจากนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งนั้น การศึกษา 2 ชิ้น ที่จัดทำขึ้นโดย 'ซิสโก้' เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า มีการรายงานการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งจำนวนหลายหมื่นครั้งทั่วโลกในแต่ละเดือน และโดยเฉลี่ยแล้ว มีพนักงาน 2 คน ที่ทำงานอยู่ในธุรกิจขนาดกลาง หรือ ขนาดย่อม มักดาวน์โหลดข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งนำมาสู่ภัยคุกคามภายในองค์กร

บน Facebook แอดมินของกลุ่มสำหรับชุมชน เจ้าของเพจธุรกิจ สื่อมวลชน ครีเอเตอร์ และโปรไฟล์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้ เพราะอาจตกเป็นเป้าหมายของผู้ประสงค์ร้ายที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลการติดต่อและข้อมูลที่มีความอ่อนไหวอื่น ๆ และนี่คือ เคล็ดลับสำคัญจาก Facebook ในการหลีกเลี่ยงการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งและสแกม ซึ่งเป็นรูปแบบอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน


➣ 'ฟิชชิ่ง' คืออะไร

ฟิชชิ่ง คือ การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เมื่อมีบุคคลพยายามที่จะเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ Facebook ของคุณด้วยการส่งข้อความ หรือ ลิงก์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ฟิชชิ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งอีเมล์ โปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย โพสต์ และข้อความ หรือ เว็บไซต์ปลอม โดยทั่วไปแล้วนักต้มตุ๋นจะอ้างตัวว่าเป็นพนักงานจากบริษัทที่มีชื่อเสียง หรือ แกล้งปลอมตัวเป็นบุคคลที่คุณรู้จัก เพื่อขอให้คุณให้ข้อมูลรหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรือ ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ และหากพวกเขาสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้งานของคุณได้ พวกเขาอาจใช้บัญชีของคุณในการส่งสแปมอีกด้วย


วิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง

1.ระวังอีเมล์หรือข้อความที่ไม่น่าไว้วางใจ

อีเมล์ที่มาจาก Facebook เกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้ ประกอบด้วย fb.com, facebook.com หรือ facebookmail.com เสมอ และสามารถเยี่ยมชม www.facebook.com หรือเข้าไปที่หน้าแอพ Facebook เพื่อตรวจสอบข้อความสำคัญจากเรา นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อข้อความที่ขอเงิน ให้ของขวัญ หรือ ข่มขู่ว่าจะลบหรือแบนบัญชีผู้ใช้ Facebook

2.อย่าเผยข้อมูลการเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้เป็นอันขาด

Facebook จะไม่ถามรหัสผ่านผู้ใช้ผ่านอีเมล์ หรือ ส่งรหัสผ่านให้ผู้ใช้เป็นไฟล์แนบ และผู้ใช้ควรหลีกเลี่ยงการเผยข้อมูลการเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน

3.อย่าคลิกไปที่ลิงก์ที่ไม่น่าไว้วางใจ

หากเห็นอีเมล์ ข้อความ หรือ โพสต์ที่ไม่น่าไว้วางใจ และอ้างว่ามาจาก Facebook อย่าคลิกไปที่ลิงก์หรือไฟล์แนบเหล่านั้น

• เคล็ดลับเพิ่มเติม : หากลิงก์นั้นมีลักษณะที่ไม่น่าไว้วางใจ ผู้ใช้จะเห็นชื่อ หรือ URL ที่อยู่ด้านบนของเพจปรากฏเป็นสีแดง พร้อมสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีแดงเป็นการแจ้งเตือน

4.อย่าตอบกลับอีเมล์เหล่านี้

อย่าตอบกลับข้อความที่ขอรหัสผ่าน เลขประกันสังคม หรือ ข้อมูลบัตรเครดิต

5.จัดการและรายงานไปที่ Facebook

หากอีเมล์หรือข้อความ Facebook ที่ได้รับมีลักษณะที่น่าสงสัย สามารถรายงานไปที่ [email protected] หรือหากคุณต้องการรายงานบทสนทนา ผู้ใช้ควรถ่ายภาพหน้าจอไว้ก่อนจะลบหน้าบทสนทนานั้นทิ้งไป โดยข้อความต่าง ๆ จะยังไม่ถูกลบออกจากอินบ็อกซ์ของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ ยังสามารถรายงานเนื้อหาที่เป็นอันตราย หรือ สแปมบน Facebook ผ่านลิงก์การรายงานที่จะปรากฏอยู่ใกล้ ๆ ตัวเนื้อหาอีกด้วย

6.ใช้งานฟีเจอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่าง ๆ

รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบที่ไม่คุ้นเคยและตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบ 2 ขั้นตอน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีผู้ใช้ และเพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ประสงค์ร้าย ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง หรือ สแกม ควรใส่ใจกับ "สัญญาณแจ้งเตือน" เพิ่มเติม ที่อาจช่วยบ่งบอกว่า กำลังตกเป็นเหยื่อของคนร้ายได้

• วิธีการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งส่วนใหญ่มักเป็นการหลอกลวงที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ด้วยความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจผิด นักต้มตุ๋นมักจะปลอมตัวเป็นบุคคลที่คุณรู้จักและขอความช่วยเหลือและเงิน ในบางครั้ง พวกเขาอาจปลอมตัวเป็นเพื่อนหรือญาติ และแสร้งว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

• นักต้มตุ๋นบางคนอาจส่งข้อความแนวโรแมนติกหาผู้ใช้ ด้วยความหวังที่จะได้รับความไว้วางใจอย่างรวดเร็ว แต่ระวังเอาไว้ เพราะในตอนสุดท้าย พวกเขามักจะขอให้ส่งเงินไปให้ หรือ นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปเผยแพร่

• อีกกลวิธี คือ การส่งข้อความหาผู้ใช้ที่เชื่อมต่อไปยังเพจ เพื่ออ้างสิทธิในการรับรางวัล ซึ่งต้องชำระค่าสมาชิก จ่ายค่าธรรมเนียม หรือ แชร์ข้อมูลส่วนตัว ในการอ้างสิทธิเพื่อรับรางวัลนั้น แต่ข้อความเพื่อการหลอกลวงเหล่านี้มักเป็นข้อความที่สะกดผิดและผิดหลักการใช้ภาษา ดังนั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว สามารถสังเกตได้ว่าลิงก์นั้นเป็นของปลอม


ข้อควรปฏิบัติ หากคิดว่าโดนหลอกลวงไปแล้ว

หากได้ให้ข้อมูลชื่อผู้ใช้ หรือ รหัสผ่าน ในลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้อื่นอาจเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ได้ คำแนะนำ คือ ควรทำใจเย็น ๆ เอาไว้และปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้

• หากยังสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ได้ รักษามันด้วยการตั้งค่ารหัสผ่านใหม่ และออกจากระบบจากอุปกรณ์ที่ไม่รู้จักทันที

• หากไม่สามารถเข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ได้ และชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านไม่สามารถทำงานได้ปกติ ใช้เครื่องมือกู้คืนบัญชี

• ตรวจสอบว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับบัญชีผู้ใช้หรือไม่ ด้วยการตรวจสอบกิจกรรมที่ผ่านมา และอีเมล์ที่ได้รับเมื่อเร็ว ๆ นี้ จาก Facebook

• หากรู้สึกว่า ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม กรุณาแจ้งความกับตำรวจในบริเวณใกล้เคียง และหากได้ให้ข้อมูลบัตรเครดิตโดยไม่ได้ตั้งใจ รีบแจ้งทางธนาคาร หรือ บริษัทบัตรเครดิตทันที นอกจากนี้ อย่าลืมรายงานบุคคล หรือ บัญชีผู้ใช้นั้นกับทาง Facebook ด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก