zero-carbon

สรรพสามิต มุ่ง ESG ลุยเก็บภาษีคาร์บอน-แบตเตอรี่

    สรรพสามิต มุ่ง ESG ลุยเก็บภาษีคาร์บอน-แบตเตอรี่ เพิ่มประสิทธิภาพรีดรายได้ระยะยาว ยันเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมัน ช่วง 2 ปีแรก ไม่กระทบต่อประชาชน คาดเข้าครม. 1-2 เดือนนี้

กรมสรรพสามิต” เป็นหนึ่งกลไกสำคัญช่วยพยุงค่าครองชีพประชาชน ในช่วงที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีบทบาทหลักด้านการผลักดันนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมในระยะยาว ตามยุทธศาสตร์ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงนโยบายการขับเคลื่อน ESG ผ่านการจัดเก็บภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ และความสำเร็จจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันต่อยอดไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

นายเอกนิติกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีของกรม ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ต.ค. 66 -มิ.ย.67 สามารถเก็บรายได้แล้ว 4 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.3% และถือว่า สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ประมาณ 1-2% อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังวางไว้

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายลดภาษีน้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชน 2.5 หมื่นล้านบาท การจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่ลดลง 8,000 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการประสบความสำเร็จของมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ทำให้ภาษีลดลง 10% ของรถยนต์ทั้งหมด ส่วนอีก 90% ตลาดรถยนต์หดตัว จากคุณภาพผู้ขอสินเชื่อรถยนต์ จากสถาบันการเงิน รวมทั้งตลาดรถยนต์

“แม้การจัดเก็บรายได้ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังวางไว้ แต่กรมไม่ได้ยอมแพ้ เราจะพยายามทำให้เต็มที่มากที่สุด โดยในอนาคต กรมจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยในระยะยาวกรมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ผ่านฐานภาษีใหม่ ซึ่งตอนนี้เราทำเกือบเสร็จ คือ ภาษีคาร์บอน”นายเอกนิติกล่าว 

สำหรับหลักการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เนื่องจากทั้งโลกตระหนักถึงสถานการณ์โลกร้อน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยได้ประกาศไว้แล้วว่าเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจากกรณีปกติ 30-40% ในปี 2573 และไทยจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593 แล้วเราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2608

ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยทำพันธสัญญาดังกล่าวแล้ว เราจึงมีเครื่องมือออกมาดูแล เนื่องจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเป็นประเทศแรกที่จะเริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (C-BAM) 5 สินค้า ได้แก่ เหล็ก ปูน อลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ตั้งแต่ 1 ม.ค.69 และขณะนี้ยุโรปเริ่มให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งเข้ายุโรปรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ฉะนั้น เราต้องรีบมีกลไกราคาคาร์บอน

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า เราเข้าไปดูแล้วว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 372 ล้านตันคาร์บอน ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังและการขนส่ง 70% โดยในภาคดังกล่าวนี้ เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดสรรพสามิตแล้ว 42% ฉะนั้น ในเรื่องพลังงานและการขนส่ง กรมจึงมาช่วยกรมโลกร้อนระหว่างรอกฎหมายโลกร้อนมีผลบังคับใช้

“เราจะช่วยให้มีกลไกราคาคาร์บอนเข้าไปอยู่ในน้ำมัน หรือพลังงานที่เราเก็บ โดยยืนยันว่า ในเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมันในช่วง 2 ปีแรก ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากเราเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ เช่น น้ำมันดีเซล 6.44 บาทต่อลิตร อนาคตจะเห็นราคาคาร์บอนอยู่ในนั้น ซึ่งในมาตรฐานโลกที่เก็บภาษีคาร์บอน เขาเก็บจากน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ที่ปล่อยคาร์บอน 0.0027 ตันคาร์บอน ฉะนั้น เมื่อเราเติมน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะรู้เลยว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่”

ทั้งนี้ ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังยุโรป เช่น โรงเหล็ก ซึ่งปัจจุบันซื้อน้ำมันเพื่อไปหลอมเหล็กแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือกับยุโรป ให้สามารถนำการเสียภาษีคาร์บอนจากกรมสรรพสามิต ไปหักกลบภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนไปยุโรปได้ คาดว่าส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 เดือนนี้

นอกจากนี้ กรมได้ศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เนื่องจากปัจจุบัน แบตเตอรี่ครอบคลุมการใช้งานในหลายภาคส่วน เช่น เป็นที่กักเก็บไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ปัจจุบันกรมเก็บภาษีดังกล่าว ที่อัตรา 8% ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่คุณภาพดี สามารถนำมารีไซเคิลได้ ก็คิดอัตราในเรทเดียวกัน ซึ่งขณะนี้การจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่ระหว่างรอเสนอกระทรวงการคลัง

“ข้อสรุปจากการศึกษาเบื้องต้น คือ กรมจะใช้มาตรฐานทั้ง 2 ส่วน ในการพิจารณาเก็บภาษีแบตเตอรี่ เช่น หากแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง สามารถชาร์ทได้หลายครั้ง มีคุณภาพสูง อึด ทน และใหญ่ เช่น 150 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รวมทั้งสามารถนำมารีไซเคิลได้ เราจะให้อัตราภาษีที่ถูกลง ซึ่งต่ำกว่าเรทปัจจุบันที่อยู่ระดับ 8% ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว แล้วทิ้ง ก็จะพิจารณาคิดอัตราภาษีในเรทที่แพงขึ้นมากกว่า 8%”

การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินการจูงใจสร้างฐานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายเริ่มจากการผลิตรถยนต์อีวีก่อน และจะกระจายไปสู่ที่เก็บกักพลังงาน โดยจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2568 มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องมาผลิตรถอีวีชดเชยตามเงื่อนไข ซึ่งมีโรงงานเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 4 หมื่นล้านบาท

“ตามเงื่อนไขการผลิตรถไฟฟ้าชดเชยรถที่นำเข้ามา ในปี 2565-2566 มีทั้งหมดประมาณ 1 แสนคัน ฉะนั้น ปี 2567 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย และผลิตรถอีวีให้ทันตามเงื่อนไข โดยหากผลิตทันในปีนี้ ทำเพียง 1 เท่า แต่ถ้าตั้งโรงงานไม่ทัน ปี 2568 ต้องผลิต 1.5 เท่า นี่จะทำให้เกิดฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่ายรถจะผลิตคืนทันปีแรก 8-9 หมื่นคัน”

นอกจากนี้ กรมยังระบุว่า ในปี 2569 จะต้องมีการผลิต หรือประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์อีวีใช้ส่วนประกอบหลัก คือ แบตเตอรี่ ฉะนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มีเงินลงทุนสำหรับแบตเตอรี่แล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หากเราไม่ทำ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จากอนาคตเราเคยเป็นท็อป 10 ของโลก ก็อาจจะไม่เหลือเลย ขณะเดียวกัน แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวีจะลดลงจากการดำเนินมาตรการ แต่ประโยชน์ที่เกิดในประเทศ คือ ฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับโลกด้วย