sustainability

สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ หนุนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

    สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ลดอัตราให้ต่ำกว่า 8% สำหรับแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพ รีไซเคิลได้ หนุนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ชี้จัดเก็บรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.3% จ่อใช้ภาษีคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมได้ศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เนื่องจากปัจจุบัน แบตเตอรี่ครอบคลุมการใช้งานในหลายภาคส่วน เช่น เป็นที่กักเก็บไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมเก็บภาษีแบตเตอรี่ที่อัตรา 8% ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่คุณภาพดี สามารถนำมารีไซเคิลได้ ก็คิดอัตราในเรทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การทบทวนภาษีดังกล่าว จะใช้มาตรการ 2 ส่วน ระหว่างแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพดี รีไซเคิลได้ กับแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ครั้งเดียว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้การจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่ระหว่างรอเสนอกระทรวงการคลัง

“ข้อสรุปจากการศึกษาเบื้องต้น คือ กรมจะใช้มาตรฐานทั้ง 2 ส่วน ในการพิจารณาเก็บภาษีแบตเตอรี่ เช่น หากแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง สามารถชาร์ทได้หลายครั้ง มีคุณภาพสูง อึด ทน และใหญ่ เช่น 150 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รวมทั้งสามารถนำมารีไซเคิลได้ เราจะให้อัตราภาษีที่ถูกลง ซึ่งต่ำกว่าเรทปัจจุบันที่อยู่ระดับ 8% ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว แล้วทิ้ง ก็จะพิจารณาคิดอัตราภาษีในเรทที่แพงขึ้นมากกว่า 8%”

ส่วนผลการจัดเก็บภาษีของกรม ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ต.ค. 66 -มิ.ย.67 สามารถเก็บรายได้แล้ว 4 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.3% และถือว่า สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ประมาณ 1-2% อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังวางไว้

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายลดภาษีน้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชน 2.5 หมื่นล้านบาท การจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่ลดลง 8,000 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการประสบความสำเร็จของมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ทำให้ภาษีลดลง 10% ของรถยนต์ทั้งหมด ส่วนอีก 90%ตลาดรถยนต์หดตัว จากคุณภาพผู้ขอสินเชื่อรถยนต์ จากสถาบันการเงิน รวมทั้งตลาดรถยนต์

“แม้การจัดเก็บรายได้ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังวางไว้ แต่กรมไม่ได้ยอมแพ้ เราจะพยายามทำให้เต็มที่มากที่สุด โดยในอนาคต กรมจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยในระยะยาวกรมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ผ่านฐานภาษีใหม่ ซึ่งตอนนี้เราทำเกือบเสร็จ คือ ภาษีคาร์บอน”

นายเอกนิติ กล่าวว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 372 ล้านตันคาร์บอน ส่วนใหญ่มาจากภาคพลัง และการขนส่ง 70% โดยในภาคดังกล่าวนี้ เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดสรรพสามิตแล้ว 42% ฉะนั้น ในเรื่องพลังงาน และการขนส่ง กรมจึงมาช่วยกรมโลกร้อน ระหว่างรอกฎหมายโลกร้อนมีผลบังคับใช้

“เราจะช่วยให้มีกลไกราคาคาร์บอนเข้าไปอยู่ในน้ำมัน หรือพลังงานที่เราเก็บ โดยยืนยันว่า ในเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมันในช่วง 2 ปีแรก ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากเราเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ เช่น น้ำมันดีเซล 6.44 บาทต่อลิตร อนาคตจะเห็นราคาคาร์บอนอยู่ในนั้น ซึ่งในมาตรฐานโลกที่เก็บภาษีคาร์บอน เขาเก็บจากน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ที่ปล่อยคาร์บอน 0.0027 ตันคาร์บอน ฉะนั้น เมื่อเราเติมน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะรู้เลยว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่”

ทั้งนี้ ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังยุโรป เช่น โรงเหล็ก ซึ่งปัจจุบันซื้อน้ำมันเพื่อไปหลอมเหล็กแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือกับยุโรป ให้สามารถนำการเสียภาษีคาร์บอนจากกรมสรรพสามิต ไปหักกลบภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนไปยุโรปได้ คาดว่าส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 เดือนนี้