บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ได้ปรับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 10 ปี จากปี 2593 (ค.ศ. 2050) เป็น 2583 (ค.ศ. 2040) และเพิ่มเป้าหมายระยะยาวใหม่ คือการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าและพลังงานใหม่ ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะรองรับความต้องการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
การขับเคลื่อนดังกล่าว จะผ่านการดำเนินงาน อาทิ 1.การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (Expand Clean Energy Portfolio) 2.การนำไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า (Hydrogen or Ammonia co-firing) 3.การลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Value Chain) 4.การใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) 5.การเข้าร่วมซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต หรือตลาด I-REC (Participation in Carbon Credit/I-REC Market Business)
รวมถึงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก (ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มเติม ควบคู่การดูแลทรัพยากร ธรรมชาติและฟื้นฟูป่าต้นนํ้า เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero เอ็กโก กรุ๊ป ได้วางแผนการดำเนินงานไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น จะลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) ลง 10 % และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30 % ภายในปี 2573
เป้าหมายระยะกลาง บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 โดยจะขยายการลงทุนอย่างเต็มศักยภาพในธุรกิจพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เช่น ไฮโดรเจน, CCS, CCUS ดำเนินการเชิงพาณิชย์ในธุรกิจห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการประยุกต์ใช้งาน
เป้าหมายระยะยาวปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน 100% เช่น ไฮโดรเจน, CCS, CCUS และขยายการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในธุรกิจห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจน
ทั้งนี้ ในการดําเนินธุรกิจปี 2567 ได้จัดสรรงบลงทุนไว้ราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งครึ่งปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่างบลงทุนที่เหลืออาจจะยังไม่เพียงพอ อาจจะต้องจัดสรรเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อรองรับการดำเนินงาน โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนใน 8 ประเทศที่เอ็กโกได้เข้าไปลงทุน (ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา)
ปัจจุบันเอ็กโก มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณ 7,048 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,492 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยมีเป้าหมายในปีนี้จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 8,000 เมกะวัตต์ จากการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศ 2-3 โครงการ กำลังผลิตประมาณ 630 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจะทยอยปิดดีลได้ภายในปลายปี 2567
รวมถึงการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องใน บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี (Apex) ที่เข้าไปถือหุ้น 17.46% ซึ่งมีโครงการรอการพัฒนาอยู่ 195 โครงการ รวมกำลังผลิต 52,388 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์ม 92 โครงการ กำลังผลิต 14,995 เมกะวัตต์ พลังงานลม 72 โครงการ 26,645 เมกะวัตต์ แบตเตอรี่ 23 โครงการ กำลังผลิต 3,889 เมกะวัตต์ ไฮโดรเจน 8 โครงการ กำลังผลิต 6,859 เมกะวัตต์ ขณะที่มีโครงการพัฒนาแล้วอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้ 8 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,335 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ รวมกำลังผลิต 294 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานลม 224 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 70 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังเตรียมการรองรับเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่ 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ รวมถึงการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่จะประกาศได้ภายในปี 2567 นี้
อีกทั้งเตรียมการลงทุนในส่วนของการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากโรงไฟฟ้าโบโค ร็อค วินด์ฟาร์ม ของกลุ่มเอ็กโก ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย และการผสมเชื้อเพลิงแอมโมเนียในในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีกำลังผลิต 1,434 เมกะวัตต์ หลังจากที่ได้ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ศึกษาทางเทคนิคเสร็จสิ้นแล้ว และจะนำไปสู่การศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป
ขณะเดียวกันมีโครงการนำร่องร่วมกับพันธมิตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ เทคโนโลยี CCUS มาใช้กับโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง