บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 40% บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO อีก 30% ได้กำหนดวงเงินลงทุนเริ่มต้นไว้ 2,960 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2565-2569)
ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัท อินโนพาวเวอร์ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมพลังงานและความยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยมีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อให้กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด (Clean Energy) เติบโตมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง เสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ จากทั่วโลกมาสู่สังคมไทยและจุดประกายให้เกิดทางเลือกใหม่ในธุรกิจพลังงาน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด
รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือ ในตลาดธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากการร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับ (1) Future Mobility (2) Future of Energy Network และ (3) โครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้โดยเร็ว เช่นการนำเรื่องการซื้อขาย ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ REC มาต่อยอดเชิงธุรกิจ มุ่งสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสีเขียวมีแรงจูงใจในการผลิตไฟฟ้าของตัวเอง ได้อีกในอนาคต
นายอธิป ตันติวรวงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2567 อินโนพาวเวอร์ มุ่งสู่การเป็น Decarbonization Partner หรือ การเป็นพันธมิตรพิชิตคาร์บอน เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวขับเคลื่อน Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions โดยการได้รับคำแนะนำ แนวทางการบริหารจัดการคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวภายใต้โซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ
1.Greenhouse Gas Report (GHG) หรือแพลตฟอร์ม GHG สำหรับคำนวณและแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้าง Awareness หรือ ความตระหนักรู้ให้แก่บริษัทผู้ประกอบการสำรวจธุรกิจของตนเองว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด
2.Renewable Energy Certificate (REC) หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
3.Energy Ignition Ventures (EIV) หรือการลงทุนในกองทุนและสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านรายได้เป็น 300 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2566 มีประมาณ 150.4 ล้านบาท หรือขยายตัว 100% และด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) เป็น 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 1 ล้านตัน หรือลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 100%
สำหรับการดำเนินงานในช่วง 5-6 เดือน ปี 2567 บริษัทได้ร่วมมือกับสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าไปสร้างความตระหนักรู้และช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME นำแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวไปปรับใช้ในธุรกิจ (Green Transformation) หลักสูตรแนวทางการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) โดยการใช้ GHG Platform ตรวจประเมินก่อนที่จะนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการ (Solution) เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนของแต่ละผู้ประกอบการที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลตอบรับดีมากมีผู้ประกอบการ SME จำนวน 80 ราย สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดช่วยลดคาร์บอนได้แล้ว 3 พันตัน จากที่ปล่อยคาร์บอน 1 หมื่นตันต่อปี
“เอสเอ็มอี 80 รายที่ร่วมเป็นพันธมิตรมีทั้งระดับกลาง ระดับเล็ก และเล็กมาก และมีความหลากหลาย มีทั้งโรงงานถลุงทองแดง ออฟฟิศ สำนักงาน กลุ่มสหกรณ์ บริษัทที่เกี่ยวกับเทรดดิ้ง โดยเอสเอ็มอีที่ทำเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนจะช่วยให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถทำการลดคาร์บอนใน scope 3 ต่อเนื่องไปทั้ง value chain มีความชัดเจนขึ้น”
ทั้งนี้ ภารกิจพันธมิตรพิชิตคาร์บอน ในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าหมายไว้จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมราว 100 ราย แต่ระยะเวลาที่เหลือครึ่งปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ราย ได้ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานลดปล่อยคาร์บอนฯ ทะลุกว่า 2 ล้านตันได้ไม่ยาก
อีกทั้ง นอกจากจะร่วมกับ สสว. แล้ว ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารพาณิชย์ชั้นนำอีกหลายแห่งที่กำลังตื่นตัวอย่างมาก และกำลังเข้าไปช่วยเหลือรวมทั้งสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารปรับตัวในการรับมือการเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจด้วย
รวมถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรไปสู่อุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาล เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปให้บริการกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ของโรงงานนํ้าตาล 5 แห่ง จากการใช้แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพื่อนำไปซื้อขาย ให้ธุรกิจมีเงินนำไปใช้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ถือเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการ carbon footprint อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยผู้ประกอบการเรียนรู้กระบวนการขึ้นทะเบียนการขอรับรอง REC โดยมีอินโนพาวเวอร์ช่วยเป็นพี่เลี้ยง เป็นการสื่อให้เห็นถึงอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ล่าสุดในพันธกิจของอินโนพาวเวอร์ด้าน Decarbonization Partner ยังได้ร่วมลงทุน 50 ล้านบาท กับบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เพื่อขยายสถานีชาร์จ EV รองรับความต้องการของผู้ใช้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และอินโนพาวเวอร์สามารถสร้างบริการเพิ่มเป็น Service on Top สำหรับผู้ใช้รถ EV เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมกับวางเป้าระยะยาวในการได้มีส่วนร่วมเป็นผู้ร่วมถือหุ้นกับทาง SHARGE อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง