thansettakij
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ความจำเป็นลด CO2 สู่ Net Zero
net-zero

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ความจำเป็นลด CO2 สู่ Net Zero

    กระแสของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ( SMR) กำลังเป็นที่สนใจของสาธารณะชน หลังถูกบรรจุอยู่ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่(PDP 2025) ที่อยู่ระหว่างจัดทำ

ในเบื้องต้นกำหนดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปลายแผนหรือราวปี 2579-2580 ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์

ในงานเสวนาโต๊ะกลม “SMR ทางเลือก หรือ ทางรอด GREEN ENERGY” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เป็นอีกเวทีหนึ่งที่นำผู้เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดยเฉพาะความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมี SMR หรือไม่ รวมถึงความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมารองรับ และเทคโนโลยีมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนการยอมรับของทุกภาคส่วน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางพลังงานของประเทศต้องหาเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน SMR เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะมาตอบโจทย์หรือสนับสนุนประเทศให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ประกอบเป็นโรงไฟฟ้าพื้นฐานที่สามารถรักษาความมั่นคงไฟฟ้า ให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่บรรจุอยู่ในแผนพีดีพีเป็นจำนวนมากได้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ความจำเป็นลด CO2 สู่ Net Zero

อีกทั้ง เทคโนโลยี SMR มีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ไม่มาก ก่อสร้างได้รวดเร็ว ใช้เชื้อเพลิงน้อย ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยแข่งขันได้เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในปัจจุบัน

ขณะที่นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สะท้อนว่า กฟผ.มีหน้าที่บริหารความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศเป็นหลัก จำเป็นต้องมองหาทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าสะอาดให้กับประเทศ ซึ่ง SMR เป็นทางเลือกที่จะมารักษาความมั่นคงไฟฟ้าได้ ประกอบที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับส่งพนักงานไปฝึกอบรมกับเจ้าของเทคโนโลยีมาเป็นระยะๆ เพื่อเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับไทย

ส่วนนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มองว่า จากนี้ไปพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ และมีความต้องการมากขึ้น ในการทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ Net Zero ซึ่งการจะพึ่งพลังงานหมุนเวียน มีข้อจำกัดจากความไม่เสถียรที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้ง การก่อสร้างอย่างโซลาร์ฟาร์ม 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก

ดังนั้น SMR จึงเป็นทางเลือกของประเทศ ที่จะมีพลังงานสะอาดและเกิดความเสถียร และมาตอบโจทย์ความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในอีก 10 ข้างหน้า ซึ่งจากนี้ไปจำเป็นต้องสร้างการยอมรับของประชาชน และสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ บุคลากรที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยีในการกำจัดกากกัมมันตรังสี และการนำกลับมารีไซเคิล

น.ส.เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)ชี้ให้เห็นว่า ไทยอยู่ช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับ SMR อาทิ 1.กรอบกฎหมาย และกฎระเบียบที่ชัดเจน 2.ด้านบุคลากร 3.การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 4.การสร้างความมั่นใจแก่สาธารณะ ซึ่งการให้ข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับข้อดี

ส่วนข้อเสียของ SMR มีความสำคัญต่อการยอมรับจากประชาชน และอยู่ระหว่างยกร่างพ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. ... เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากลในเรื่อง Civil liability on nuclear damage และให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอีก 4 ฉบับ เช่น การลงนามตราสารระหว่างประเทศด้านความรับผิดชอบต่อความเสียหายทางนิวเคลียร์

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวถึงว่าบริษัท ได้เร่งศึกษาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดประเภทอื่น ๆ โดยให้ความสนใจในเทคโนโลยี SMR ในเจเนอเรชันที่ 4 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานแบบโมดูล่าร์ขนาดเล็ก ที่ผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต สามารถขนย้ายได้ โดยร่วมกับบริษัท Seaborg Technologies จากประเทศเดนมาร์ก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาโครงการฯ ซึ่งกำหนดแผนระยะเวลาในการศึกษา 4 ปี (ระหว่างปี 2567-2570)

สำหรับกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้กับผู้เชี่ยวชาญจาก Seaborg จะสามารถทำให้ GPSC เข้าถึงมาตรฐานความปลอดภัยของเทคโนโลยี SMR ตามข้อกำหนดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ SMR จะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบที่ภาครัฐกำหนด และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนภายในประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งด้านกฎหมาย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ฯลฯ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยคาดว่าภายในปี 2578 จะเห็นเทคโนโลยี SMR ในเชิงพาณิชย์ได้ในต่างประเทศ