ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ระหว่างนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Direct PPA) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
สำหรับ Direct PPA ในต่างประเทศมี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Physical Delivery PPA) โดยส่งมอบในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง (On-Site PPA) หรือส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) แบ่งเป็นการส่งมอบไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าที่ดำเนินการเอง (Private Wire PPA) หรือการส่งมอบไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า (Bilateral หรือ Trilateral/Sleeved PPA)
และแบบที่ไม่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Virtual/ Financial PPA) ซึ่งจะเป็นลักษณะของสัญญาทางการเงินที่มีการชดเชยส่วนต่างของราคา (Contract for Difference) ระหว่างราคาที่ตกลงกันและราคาซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขายไฟฟ้า สัญญานี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้า
สำหรับกลไกและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ของประเทศไทย ทั้งในส่วนที่ดำเนินการมาแล้วและที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเวลานี้ 1. เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง (On-Site PPA) เป็นการซื้อขายไฟฟ้าหลังมิเตอร์ (Behind-the-Meter) ที่ไม่มีการส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า
ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้โดยต้องมีการขอรับอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่ กกพ. ประกาศกำหนด
2.การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านสายส่งไฟฟ้าที่ดำเนินการเอง (Private Wire PPA) เป็นการซื้อขายไฟฟ้าหลังมิเตอร์ (Behind-the-Meter) ที่ไม่มีการส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า ปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้เอกชนดำเนินการ โดยต้องมีการขอรับอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานฯ
ทั้งนี้หากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กรายใดได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตจาก กกพ. และ กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีคุณสมบัติตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด รวมถึงได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามระเบียบดังกล่าวแล้ว กกพ. ย่อมมีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานประเภทระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนได้
3.การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยมีการไฟฟ้าเป็นตัวกลางในการให้บริการรวบรวมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการการผลิต การส่ง และการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดด้วยตัวเอง (Trilateral/Sleeved PPA) เช่น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นต้น
4.การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยไม่มีการไฟฟ้าเป็นตัวกลางในการให้บริการรวบรวมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการแจ้งปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าไปยังผู้ผลิตไฟฟ้า และแจ้งปริมาณไฟฟ้าที่ต้องส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปยังผู้ให้บริการระบบส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านตัวกลาง จึงเป็นการทำสัญญาสองฝ่ายระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า (Bilateral PPA) ซึ่งต้องมีการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ได้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง