net-zero

ตลาดพลังงานหมุนเวียนติดปีก หลังไทยปฏิรูปกฎระเบียบ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

    การที่คณะรัฐมนตรีของไทยได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อภาคพลังงานหมุนเวียนของไทยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2567 เป็นต้นมา ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดการขอใบอนุญาตสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคานอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ในรูปแบบดังกล่าวจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้จะช่วยลดอุปสรรคด้านการบริหารจัดการสำหรับเจ้าของโรงงานและอาคารพาณิชย์ ส่งผลให้การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรม (C&I) ของไทยจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ตลาดโซลาร์เซลล์ในภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรมของไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 มีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนหลังคาอยู่ที่ราว 1,800 เมกะวัตต์ และตัวเลขดังกล่าวน่าจะเติบโตอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า

ตลาดพลังงานหมุนเวียนติดปีก หลังไทยปฏิรูปกฎระเบียบ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

อีกทั้ง ยังคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาในประเทศไทยอาจสูงถึง 226,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยขนาดของตลาดที่เป็นไปได้ในระยะสั้นจะอยู่ที่ราว 9,000 เมกะวัตต์ สำหรับอุตสาหกรรมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตครั้งนี้มีทั้งภาคการผลิต การค้าปลีก และการบริการ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าอัตราปกติถึง 40% ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ต้องการลดต้นทุนการดำเนินกิจการและบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

การปฏิรูปกฎระเบียบครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น เทคโนโลยี n-type, TOPCon และเทคโนโลยีระดับ 210 มม. โดยล่าสุดทรินา โซลาร์ได้ทำลายสถิติโลกด้วยกำลังการผลิตของแผง Vertex N ที่สูงเกิน 740 วัตต์ (ในห้องปฏิบัติการ) และทำลายสถิติโลกถึง 2 ครั้งภายใน 2 เดือน ด้วยการบรรลุประสิทธิภาพของเซลล์ TOPCon ที่ 25.9% และ 26.58% (ในห้องปฏิบัติการ) เพียงแค่หนึ่งเดือนต่อมา และเป็นการทำลายสถิติโลกที่ถือครองมายาวนานถึง 7 ปีของ Fraunhofer จากเยอรมนี นับเป็นครั้งแรกที่ประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ทำได้เกิน 26.5%

ความก้าวหน้าเหล่านี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจากพื้นที่อันจำกัดบนหลังคา โดยประสิทธิภาพของเซลล์ที่เพิ่มขึ้น 1% จะเพิ่มกำลังการผลิตต่อแผงได้มากกว่า 30 วัตต์ นวัตกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนหลังคา ช่วยให้ผู้ใช้พลังงานได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

การตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร่งให้เจ้าของธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น โดยพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงสุดถึง 500 ตันต่อเมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น ดังนั้นภาคการพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ลดลง มีความมั่นคงทางพลังงานที่เพิ่มขึ้น และยังสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรได้อีกด้วย

สรุปแล้ว กฎระเบียบที่ผ่อนปรน และเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ล่าสุด ได้สร้างสถานการณ์ที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทรินาโซลาร์ ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเส้นทางสู่ความยั่งยืนในด้านพลังงานของไทย และเราพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในไทยเพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่สะอาด เชื่อถือได้ และมีความคุ้มค่ามาสู่อุตสาหกรรมและชุมชนของไทยต่อไป

บทความโดย : เอลวา หวัง ผู้อำนวยการกลุ่มประจำเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางของทรินา                            โซลาร์ เอเชียแปซิฟิก