บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้งตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593( Net Zero) ครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและ Scope 2การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการใช้พลังงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ปตท.สผ.เป็น ผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้ง กำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 % และ 50 % ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ
จากการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 4.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563 และลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 21.2 % จากปีฐาน 2563 ขณะที่ปี 2568 ได้ตั้งงบประมาณสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,580 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และตอบโจทย์ Net Zero หนึ่งในโครงการสำคัญเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกซด์(Carbon Capture and Storage: CCS) ที่จะลงทุนนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัท ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนโครงการ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญของประเทศที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero และโครงการนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 (NDC) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ทําการศึกษาและออกแบบทางวิศวกรรม (FEED) แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดําเนินการทําข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision: FID) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นี้ โดยหลังจากตัดสินใจลงทุนจะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2572 จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการอัดกลับคาร์บอนได้ เมื่อดําเนินการเต็มกําลังจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ด้วยงบลงทุนราว 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมวางรากฐาน เพื่อต่อยอดการศึกษาศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินธรณีวิทยาบริเวณพื้นที่อ่าวไทยอื่น ๆ รวมถึงสร้างความพร้อมทางเทคนิค การกำกับดูแล และกฎระเบียบ ทั้งส่วนของผู้ประกอบการและภาครัฐในการพัฒนา CCS ขนาดใหญ่ หรือ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (CCS Hub) ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ของประเทศในอนาคต ที่มีเป้าหมายในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ CCS 40 ล้านตันในปี 2593 และ 60 ล้านตันในปี 2608
ที่ผ่านมา CCS Hub บริษัทร่วมมือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน, องค์การเพื่อความมั่นคงด้านโลหะและพลังงานแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOGMEC) และบริษัท อินเปกซ์ คอร์ปอเรชั่น (INPEX) ดําเนินการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอยู่ระหว่างการศึกษาทางเทคนิค เช่น การแปลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Reprocessing) การประเมินปริมาณการกักเก็บ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสําหรับกิจกรรมทางเทคนิคต่าง ๆ และการพิจารณาข้อจํากัดทางกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนแผนการดําเนินงานกิจกรรมสํารวจคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Acquisition) ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว
อีกทั้ง ปตท.สผ. ร่วมกับบริษัทในเครือปตท. ได้เข้าพบและหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานปัญหาและข้อจํากัดด้านกฎระเบียบ รวมถึงขอคําแนะนําและแนวทางในการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย นอกจากนี้ได้มีการศึกษาโมเดลทางธุรกิจและวิธีการคิดค่าบริการเบื้องต้นสําหรับการขนส่งและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Transportation and Storage Fee) เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)
แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ ของ ปตท.สผ.ได้ล่าช้าจากเดิมที่จะทราบผลภายในปี 2567 จากปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างการจัดทำหรือสร้างความชัดเจน ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติปิโตรเลียม สำหรับโครงการ CCS นำร่อง เพื่อกำหนดกรอบและมาตรฐานการดำเนินงานอ้างอิงตามกฎหมายปัจจุบัน พร้อมทั้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของโครงการนำร่อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคต
รวมทั้งศึกษารูปแบบการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงการ ด้วยกลไกการสร้างแรงจูงใจ (incentive) จากภาครัฐ เพื่อชดเชยเงินลงทุน เช่น สิทธิหักรายจ่ายทางภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสองเท่า หรือการให้เครดิตภาษี อีกทั้ง การกำหนดแนวทางส่งเสริมด้านการลงทุนที่เหมาะสม และชัดเจนแก่โครงการประกอบการตัดสินใจลงทุน และมาตรการชดเชยเงินลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง