"น้ำท่วม-ภัยพิบัติ" บ่อยครั้ง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ-ยากจนแบบฉับพลันในไทย

14 ต.ค. 2567 | 08:49 น.

"น้ำท่วม-ภัยพิบัติ" บ่อยครั้ง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ-ยากจนแบบฉับพลันในไทย อนุสรณ์เผยรายงาน UNDP พบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อทุกคน แต่ประเทศยากจนและกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบรุนแรงกว่า

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อุทกภัยและภัยพิบัติธรรมชาติซ้ำซากซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและเกิดความยากจนแบบฉับพลันในไทยเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP (United Nations Development Program)  ประเมินว่า ในระดับโลกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกคน 

แต่ประเทศยากจนและกลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ด้วยปัจจัยทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ด้านความยากจน ในปีพ.ศ. 2573 ประชากรมากกว่า 100 ล้านคนอาจเผชิญความยากจนขั้นรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ 

และประชากร 200 ล้านคนอาจพลัดถิ่นจากภัยธรรมชาติ ประสบภาวะยากจนฉับพลันจากสภาพอากาศรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ด้านความมั่นคงทางอาหารโลกสั่นคลอน ประชากรเกือบ 800 ล้านคนเผชิญความหิวโหยอย่างต่อเนื่อง และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาจะมีประชากรอีก 189 ล้านคนที่ถูกผลักให้เผชิญความหิวโหย การพลัดถิ่น 

ในปีพ.ศ. 2565 ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 84% ลี้ภัยจากประเทศที่เปราะบางต่อสภาพอากาศ และด้านที่อยู่อาศัย เมืองชายฝั่งจำนวนมากที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพราะพื้นที่เมืองมากกว่า 90% จะกลายเป็นพื้นที่ชายฝั่ง 

สำหรับประเทศไทยนั้น โดยภาพรวมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1% ของโลก แต่เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะถ้าปล่อยให้กรุงเทพฯและปริมณฑลจมทะเลจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศไทยจะเจอสภาวะอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงถี่ขึ้น เผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นอันเป็นภาวะที่คนจำนวนน้อยไม่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจในการรับมือได้  
 

จากการประชุม COP26 ประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็น 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 ในปัจจุบันประเทศไทยมีแผนงานระดับชาติในการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

รวมถึงการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก แต่การลดก๊าซเรือนกระจกและลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐต้องสร้างระบบและกลไกส่งเสริมให้มีการลงทุน เนื่องจากไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแต่ได้ผลกระทบรุนแรง 

ประเทศไทยจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการเรียกร้องให้ประชาคมโดยเฉพาะประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงในการช่วยเหลือต่อไทยอย่างน้อย 3 ด้านตามข้อเสนอในงานวิจัยของ UNDP ประกอบด้วย 

  • ทางด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ผ่านการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปยังเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 
  • ทางด้านการสนับสนุนงบประมาณต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • การลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถ สร้างศักยภาพให้ภาครัฐและเอกชนมีแผนงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกลไกทางการเงิน การสร้างแรงจูงใจ และแนวทางดำเนินการในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนให้หันมาลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม