แผนสันติภาพในเมียนมา บนเวทีประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์

14 ต.ค. 2567 | 06:30 น.

แผนสันติภาพในเมียนมา บนเวทีประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายท่านคงได้อ่านหรือเห็นข่าวเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ณ  กรุงเวียงจันทน์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำเอาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค มาหารือร่วมกันเพื่อเป็นการหาทางออก ในการประชุมครั้งนี้ประเทศเมียนมาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้มีผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุม จะมีเพียงผู้แทนอาวุโสที่มาจากกระทรวงต่างประเทศเมียนมาเข้ามาเป็นตัวแทนเท่านั้น เนื่องจากจะมีการหารือเกี่ยวกับสันติภาพในประเทศเมียนมา

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศนอกภาคพื้นที่สำคัญๆ หลายประเทศ เช่น ผู้นำจากสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย อินเดีย ฯลฯ เข้าร่วมประชุมด้วย ผมเชื่อว่าทุกท่านที่สนใจเรื่องการบ้านการเมืองในประเทศไทยเรา คงได้ผ่านหูผ่านตาถึงเนื้อหาในการประชุมไปบ้างแล้ว 

เนื้อหาที่นำมาสู่การประชุม ที่ถูกหยิบยกเข้ามาหารือในที่ประชุม ในประเด็นที่สำคัญๆ ก็คือ “สันติภาพ” ในพื้นที่อาเซียนของเรา ที่มีทั้งความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพในภูมิภาคทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ผมก็อยากให้ท่านเข้าไปอ่านดูได้ ในเวปไซด์ของสำนักข่าว VOA ซึ่งหาอ่านได้ที่ https://bit.ly/4eZClcL ก็ได้นะครับ จะได้เห็นรายละเอียดของข้อหารือที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพในเมียนมา 

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม (ผมต้องเน้นย้ำนะครับ จะได้ยิงไม่ผิดตัว....ฮา) ผมคิดว่าการพัฒนาแผนสันติภาพในประเทศเมียนมา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากการได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนของเมียนมา และจะต้องยึดหลักการ “ไม่แทรกแซง(Non-Interference)”

นั่นหมายถึงการเคารพอธิปไตยของประเทศเมียนมาเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ ประเทศไทยเราที่อาสาเป็นตัวกลาง ในการเข้าไปเป็นแม่งานในการจัดประชุมสันติภาพ แต่อย่าลืมว่าในประเทศเมียนมานั้นมีหลากหลายกลุ่มกองกำลัง ที่ทุกฝ่ายกำลังอยู่ในอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ อีกทั้งความสลับซับซ้อนของปัญหา ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าหลายหน่วยงานของรัฐบาลไทยก็ทราบดี ผมจึงมีความกังวลใจ ที่หากเราเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง เรามีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้ายได้ตลอดเวลาเลยครับ

ในความเป็นจริงที่เราทราบๆ กันมา สถานการณ์ในประเทศเมียนมา หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ประชาชนของเขาบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้ออกมาเดินขบวนคัดค้านการปกครอง จนกระทั่งถูกรัฐบาลออกมาปราบปราม ทำให้เกิดการหนีเข้าป่าของกลุ่มปัญญาชนและคนหนุ่มคนสาวบางส่วน

ในขณะที่กลุ่มกองกำลังชนชาติพันธุ์บางกลุ่ม ก็อาศัยช่วงจังหวะนี้ ดำเนินการก่อความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลกลาง จนเกิดปัญหาของสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ เพราะไม่เพียงแต่เรื่องความไม่สงบภายในประเทศเท่านั้น ยังมีปัญหาการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รับผลจากมาตรการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ทำให้เกิดปัญหาทั้งการค้าระหว่าประเทศ และการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investments: FDI) ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง ยากที่บุคคลภายนอกจะสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขได้ง่ายๆ ครับ

นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ประเทศเมียนมาเองก็มีชนชาติพันธุ์ที่หลากหลายกลุ่มมาก ปัญหาชนชาติพันธุ์ดังกล่าว เป็นปัญหาที่ถูกชาติมหาอำนาจในอดีต ได้เขียนบทไว้นานนับเจ็ดสิบกว่าปี เหตุผลเพราะความหลากหลายเผ่าพันธุ์ ที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรมทั้งด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรม แม้ว่าประเทศไทยกับประเทศเมียนมา จะมีดินแดนที่ติดกันยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร แต่เราที่เป็นประชาชนคนธรรมดาทั้งหลาย ต่อให้อาศัยอยู่ตามชายแดน หรือต่อให้มีญาติสนิทมิตรสหายอยู่ตามชายแดนของประเทศ ก็ยังไม่เข้าใจเลย นอกจากคนที่พอจะมีการศึกษาและสนใจในปัญหาเหล่านั้นเท่านั้น ที่พอจะเข้าใจบริบทดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ เพราะ “ในจิตใจของมนุษย์ ลึกล้ำยากหยั่งถึง” ดังนั้นปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาชนชาติพันธุ์นั้น เป็นปัญหาที่ยากจริงๆ ครับ

อย่างไรก็ตาม การเข้าใจและเข้าถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ต้องมีคนภายในที่มีจิตใจรักชาติชาวเมียนมา เข้ามามีส่วนร่วม คนที่อยู่ไกลไม่ควรจะใช้วิธีการบีบบังคับ ที่คิดว่าเมียนมาจะหมดทางไป และยอมจำนนนั้น ยังคงเป็นไปได้ยากมาก หรือแม้จะเป็นไปได้จริง ผมก็เชื่อว่าเป็นเพียงการ “กวาดขยะไปไว้ใต้พรม”เท่านั้น วันใดที่เปิดพรมออกมาก็ยังมีขยะอยู่ต่อไป หรือคิดว่าชาวเมียนมาที่เป็นบุคคลชั้นนำจะยอมยกธงขาวง่ายๆ ผมก็อยากให้หันไปมองอดีตที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาก็เคยถูกประเทศตะวันตกบอยคอตมาก่อน เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ อีกทั้งยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้

สุดท้ายชาติตะวันตกก็อาศัยจังหวะจะโคน ส่งทูตพิเศษที่มีทั้งนักร้องดัง นักการเมืองใหญ่ รวมทั้งตัวของประธานาธิบดี เดินทางเข้าไปยื่นข้อเสนอ ให้ปล่อยตัวท่าน ดอร์ ออง ซาน ซูจี ออกมาจากที่ถูกคุมตัว อีกทั้งต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนั้น ก็ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตยแบบเมียนมา ที่อาจจะไม่ได้เต็มใบร้อยเปอร์เซนต์ ชาติตะวันตกก็ไม่สามารถก้าวก่ายได้ นี่ไงคือขยะที่อยู่ใต้พรมดังที่กล่าวมาแล้วครับ

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ผมยังคงมีความเชื่ออยู่เสมอว่า “สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการเจรจากันบนโต๊ะอย่างจริงใจเท่านั้น” การใช้ความรุนแรงหรือบีบบังคับ จะไม่สามารถสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ แผนสันติภาพที่ได้มีการนำเสนอในเวทีการประชุมสุดยอดครั้งนี้ น่าจะมาถูกทางแล้ว แต่ประเทศไทยเราถ้าจะเป็นแม่งานในอนาคต ก็ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าประสบผลสำเร็จเราก็เป็นพระเอก แต่ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จเราก็จะเป็นผู้ร้ายโดยปริยายอย่างแน่นอนครับ ก็เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ผัว-เมียเขาทะเลาะกัน เราเป็นคนนอกอย่าเข้ายุ่ง ถ้าเขาดีกันเมื่อไร? เราจะกลายเป็นหมาหัวเน่าทันที” ครับ