โลกที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมกำลังกลายเป็นโจทย์เดียวกัน การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่คือสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว ตัวอย่างที่น่าสนใจคือกรณีของ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (PCE) ที่ไม่เพียงแต่ขยายกำลังการผลิตและสร้างรายได้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ปี 2568 PCE ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) และการส่งออกกะลาปาล์มเกิน 100,000 ตันต่อปี แต่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้คือความพยายามพัฒนากระบวนการผลิตให้ "สะอาด" มากที่สุด
นายพรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (PCE) ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร กล่าวว่า บริษัทฯ ลงทุนใน Bio Complex ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบริหารจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานเช่นนี้ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรที่เคยถูกมองว่าเป็นของเหลือ
PCE คํานึงใน ESG โดยพยายามชดเชยคาร์บอนด้วยไบโอดีเซล ที่จริงเเล้วปาล์มน้ำมันเป็น Zero Waste แต่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่แรกของการผลิต ถ้าเราเติมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) 100 % คาร์บอนจากรถจะหายไป 75% ตอนนี้รัฐบาลปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ให้เป็น B5 ก็เท่ากับว่าคาร์บอนที่ปล่อยออกมาประมาณ 2% เรามองแล้วว่าซัพพลายเชนทั้งหมดสามารถเคลมคาร์บอนได้
ส่วนการใช้ B100 ในอุตสาหกรรมทางทะเล (Marine Oil) ซึ่งยุโรปได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยการเติม B100 ในเรือสามารถลดการปล่อยคาร์บอน การคำนวณและจัดการเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารคาร์บอนฟุตพรินต์ให้สมดุล พร้อมตั้งเป้าหมายชดเชยคาร์บอนในทุกสายงาน
การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ B100 ทางทะเลบนเรือ หากเกิดขึ้นก็จะสามารถชดเชยคาร์บอนได้ประมาณ 24% ตอนนี้ในองค์กรของเราทั้ง 5 บริษัท ก็พยายามจะชดเชยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง
นายพรพิพัฒน์ ระบุว่า มาตรการ EUDR (European Union Deforestation Regulation) เป็นกฎระเบียบที่สหภาพยุโรปใช้เพื่อลดการนำเข้าสินค้าที่อาจมีส่วนในการทำลายป่าไม้ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ไทยมีจุดแข็งและโอกาสในการแข่งขันที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งในบางด้าน
ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่สำคัญในแง่ของพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5% ต่อปี และการทำเกษตรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แตกต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่า ประเทศไทยยังไม่เสียภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก
ไทยต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากไม่ได้รับการรับรองด้านกฎหมาย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในไทยส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโฉนดและเอกสารสิทธิ์ครบถ้วน เกษตรกรในไทยยังมีแนวโน้มที่จะปลูกปาล์มในพื้นที่ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน เช่น ยางพาราที่ให้ผลผลิตต่ำ ส่งผลให้การเพาะปลูกไม่ละเมิดพื้นที่ป่าสงวนหรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้ไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่า
PCE ยังสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อย โดยการส่งเสริมโครงการ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง สร้างเศรษฐกิจแบบ “Win-Win” ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ความร่วมมือระหว่างกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่าการดูแลต้นน้ำอย่างเกษตรกรให้มีความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอ จะส่งผลดีต่อกลางน้ำในกระบวนการผลิต และปลายน้ำในการส่งออกและแข่งขันในตลาดโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง