ปี 2568 หรือปีงูเล็ก ทิศทางสินค้าเกษตรไทยจะเป็นอย่างไรนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้วิเคราะห์ไว้ในเบื้องต้น พบในหลายสินค้ามีทิศทางแนวโน้มที่ดี แต่อีกหลายสินค้ายังน่าเป็นห่วง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตร (จีดีพีเกษตร) ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8-2.8 หรือมีมูลค่า 698,550-705,410 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ ปริมาณฝนที่มีมากขึ้นจากอิทธิพลของสภาวะลานีญาที่คาดว่าจะยังส่งผลจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ทำให้มีปริมาณนํ้าเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงการเพาะปลูกในรอบถัดไป
สำหรับในสินค้า “ข้าว” คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณนํ้าที่มีเพียงพอในการเพาะปลูก ประกอบกับราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในส่วนของข้าวนาปรัง เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงปลายปี 2567 ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณนํ้าต้นทุนในอ่างเก็บนํ้าและแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก และราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาปรังที่เคยปล่อยว่าง
ส่วนปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย ที่สำคัญคือ รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติได้อีกครั้ง โดยไม่มีภาษีส่งออก โดยกำหนดราคาส่งออกขั้นตํ่าไว้ที่ตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เวียดนาม และปากีสถาน ต้องปรับลดราคาข้าวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
“ยางพารา” คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง และปริมาณนํ้าฝนที่มีแนวโน้มมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นยางมีความสมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีการเฝ้าระวังและป้องกันโรคใบร่วงยางพาราได้ดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการใช้ยางพาราของโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา
รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เน้นการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้ยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น
“มันสำปะหลัง” การส่งออก (มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง) มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับปี 2567 เนื่องจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญของไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นแอลแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะมันเส้น จากการที่จีนมีแนวโน้มผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น
สำหรับแป้งมันสำปะหลังยังมีความต้องการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (อุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ เครื่องดื่ม และสิ่งทอ) ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย แต่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการลงทุนสร้างโรงานแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นใน สปป.ลาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกแป้งมันสำปะหลังของไทยได้
“ปาล์มนํ้ามัน” คาดว่าผลผลิต จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาปาล์มนํ้ามันในปี 2565 อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกแทนยางพารา ซึ่งจะให้ผลผลิตในปี 2568 เป็นปีแรก คาดว่าความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อการบริโภค 1.49 ล้านตัน ทรงตัวเท่ากับปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อพลังงานทดแทน 0.89 ล้านตัน ลดลงจาก 1.08 ล้านตันในปี 2567 เนื่องจากคาดว่าในช่วงต้นปี 2568 กระทรวงพลังงานยังคงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี100)ในนํ้ามันดีเซลไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 5 (บี5) ต่อเนื่อง เพื่อไม่ทำให้เป็นภาระต่อต้นทุนการผลิตนํ้ามันดีเซลหมุนเร็วมากเกินไป และจะเป็นภาระต่อประชาชนที่ใช้นํ้ามันเชื้อเพลิง ส่วนการส่งออกคาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทยจะมีปริมาณ 1.000 ล้านตัน ลดลงจากจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 1.036 ล้านตัน
“ไก่เนื้อ” คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย การควบคุมป้องกันโรคในสัตว์ปีกที่เข้มงวด และการรับรองมาตรฐานของไทย เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกใหม่ในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง
ปิดท้ายด้วย “ทุเรียน” แม้ว่าปัจจุบันมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่ สศก.ยังคาดการส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา และส่วนแบ่งตลาดทุเรียนจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตและการส่งออกทุเรียนคุณภาพ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568