"กพช." สั่งเบรกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 โยนเผือกร้อนกฤษฎีกา-นายก

25 ธ.ค. 2567 | 20:22 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 21:29 น.
794

"กพช." สั่งเบรกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 โยนเผือกร้อนกฤษฎีกา-นายกฯ พิจารณา ขณะเห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติม จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573

สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 นั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยกับประชาชนเรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว

เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและราชการ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ กพช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง 

โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวได้ โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้า ทราบมติ กพช. ต่อไป 
 

 

 

นอกจากนี้ ทีประชุมยังได้มีการพิจารณาขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า และการขยายอายุการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติประกอบด้วย 

เห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม รับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm 

ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 

กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย 

กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย ,ประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประโยชน์จากการขยายกรอบเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ และช่วยลดการนำเข้า Spot LNG ลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้เห็นชอบการขยายเวลามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน 

ที่ประชุม มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้นนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และยังจะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีสถานการณ์ราคาผันผวนได้ 

อีกทั้งเห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) โดยโรงไฟฟ้าน้ำพองถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูก การขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้ายังเป็นการช่วยลดการนำเข้า Spot LNG ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568