energy

"ปตท." ชูกลยุทธ์ 3C ดันองค์กรสู่เป้า "Net Zero" ปี 2050

    "ปตท." ชูกลยุทธ์ 3C ดันองค์กรสู่เป้า "Net Zero" ปี 2050 เดินหน้าปรับพอร์ตธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน เผยอยู่ระหว่างเดินหน้าเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้าน CCS ทำโดย ปตท.สผ. ใน 2 พื้นที่นำร่อง

นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมาย "Net Zero" อย่างชัดเจน โดยปี 2050 ปตท. ต้องเข้าสู่ Net Zero ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ 15 ปี

ทั้งนี้ โดยการดำเนินการผ่านกลยุทธ์ C3 Approach ประกอบด้วย

  • climate-resilience business โดยเป็นการปรับพอร์ตโฟลิโอของกลุ่ม ปตท.ให้ไปสู่ธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง หรือเป็นการทำธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิมที่มีธุรกิจปล่อยคาร์บอนมากก็มีการขายออกไปบ้าง เช่น PTT ออกจากธุรกิจถ่านหินมาทำก๊าซธรรมชาติเพื่อลดคาร์บอน ส่วน GPSC เป็นธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า จะมีการใช้ Renewable และ decarbonize โดยมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ ปตท. มีพอร์ตโฟลิโอที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง
     
  • Carbon conscious business โดย ปตท. มีธุรกิจจำนวนมากที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงต้องมีการหาเทคโนโลยีที่จะมาลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจทั่วโลก เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) เป็นต้น 

"ปตท." ชูกลยุทธ์ 3C ดันองค์กรสู่เป้า "Net Zero" ปี 2050

  • Coalition-co creation and collective efforts for all โดยถือ เป็นส่วนสำคัญที่จะไปให้ถึงเป้า Net Zero ซึ่งจะเป็นโครงการใหญ่ในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ โดย ปตท.จะใช้เทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอนจากอากาศในสภาพของเหลวซึ่งจะถูกส่งและกักเก็บที่หลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.ทำหน้าที่สร้าง infrastructure ส่วนการเก็บและการลงไปใต้ดิน-ใต้ทะเลก็เป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ สิ่งที่เป็นความท้าทายไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่จะต้อง unlocck regulation ร่วมกับภาครัฐด้วย

นายรัฐกร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้าน CCS ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ใน 2 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ และโครงการลังละบาห์ ในมาเลเซีย โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ นับเป็นการดำเนินการแห่งแรกของประเทศไทย คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
 

รวมถึงเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่มปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 10 ล้านตันต่อปี และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ปี 2030 ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

"การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องร่วมมือกัน ไม่สามารถทำได้คนเดียว ต้องร่วมมือกันในกลุ่ม รวมถึงเอกชนที่เป็นพาร์ทเนอร์ และภาครัฐ โดยทั้งหมดจะเป็นกลยุทธ์ที่นำพา ปตท. ไปสู่เป้า Net Zero ที่วางไว้"