การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะจัดขึ้นอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 29 (COP29) ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในการลดโลกร้อน เพื่อนำสู่การบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายต่อที่ประชุม COP26 ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นคอนเซปต์ใหญ่ของประเทศ เพื่อวางเป้าหมายไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าภาคประชาชนและภาคธุรกิจยังไม่ตื่นตัวกับประเด็นนี้มากนัก รวมถึงยังไม่มีโรดแมปที่ชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องให้เร่งความสำคัญ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หอการค้าฯ มองว่ารัฐบาลสามารถสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของภาคธุรกิจที่แตกต่างออกไปได้ ดังนี้
1.ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว กลุ่มนี้คงต้องเข้าไปช่วยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable
2.ภาคธุรกิจขนาดกลาง ที่ต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งในแง่แหล่งเงินทุน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจแบบเดินสู่แนวทางที่คำนึงถึง Sustainable รวมถึงกองทุน หรือ แหล่งเงินทุน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
3.ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ทั้ง SME และ Micro SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากสุดของประเทศส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง Sustainable ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ และหากรณีความสำเร็จ ที่จะเป็นโมเดลต้นแบบให้เดินตามได้ และรัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง