net-zero
709

เจาะลึก ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอกาสไทยก้าวสู่ Net Zero

    กฎหมายใหม่ที่จะปฏิวัติวงการธุรกิจไทย! รู้จัก ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยปรับตัวสู่ความยั่งยืน และก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

“ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ..." กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อ "ฆ่า" ธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน”

คำกล่าวของ “พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือ กรมลดโลกร้อน ช่วงหนึ่งในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”

ชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า อยู่ในแผนการดำเนินงานของประเทศไทย ที่จะเดินไปเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero  ประกอบด้วย 14 หมวด 169 มาตรา 

เป้าหมายคือให้ พ.ร.บ. นี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในปี 2025 เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2026

ฐานเศรษฐกิจ สรุปเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ได้ดังนี้ 

หลักการ: ให้มีการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกฎหมายกำหนดเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เหตุผล: ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระจายของเชื้อโรค จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกำหนดมาตรการในการรับมือ

คณะกรรมการ: ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีหน้าที่เสนอแนะแนวทางการจัดการและดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

แผนแม่บท: ให้มีการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแนวทางการปรับตัวของประเทศ

ฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก: จัดให้มีฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศและเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยให้หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจก

การลดก๊าซเรือนกระจก: กำหนดแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายที่กำหนดไว้ในแผน

การปรับตัว: จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ การเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

มาตรการส่งเสริม: สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านกองทุนสิ่งแวดล้อม

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

อธิบดีฯพิรุณ ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอคณะอนุกรรมการทางกฎหมายไปแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะไปคณะกรรมการแห่งชาติในเดือนตุลาคม จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่างจะใช้เวลานานเท่าไหร่ตอบไม่ได้ เเต่จากนั้นก็ไปสภาฯ ตามวาระและนำไปสู่การบังคับใช้ กรมต้องการเห็นการบังคับใช้ในปี 2026”

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ท่ามกลางเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งไทยและทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไข 

ดังเห็นได้จากการจัดทำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในปี ค.ศ. 1992 การประกาศใช้พิธีสารเกียวโตในปี ค.ศ. 1997 และความตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2015 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเหล่านี้และเข้าร่วมเป็นภาคีตามลำดับ รวมถึงเข้าร่วมการประชุม UNFCCC COP อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งประเทศไทย นอกจากนี้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบแล้ว

พบว่ามีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เสนอโดย นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ และ 2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... เสนอโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ

ซึ่งจากการประมวลร่างพระราชบัญญัติที่มีความเกี่ยงโยงกันทั้ง 3 ฉบับมีสาระสำคัญ 7 ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้:

  1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ: มีหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศ
  2. การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติและอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การตรวจวัดและรับรองปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการส่งเสริมการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
  3. การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG inventory): ให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการใน 15 อุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมในการวางแผนและกำหนดมาตรการ
  4. การลดก๊าซเรือนกระจก: จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายงานและจัดทำฐานข้อมูลภาพรวมของประเทศ
  5. ระบบภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต: กำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและระบบการซื้อขายสิทธิดังกล่าว รวมถึงพัฒนาระบบการเก็บภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
  6. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ และจัดทำแผนการปรับตัวใน 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และการตั้งถิ่นฐาน
  7. บทกำหนดโทษ: การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกปรับและนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เจาะลึก ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอกาสไทยก้าวสู่ Net Zero

“สิ่งที่อยากเห็น คือ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน ครม. ให้ได้ เพื่อไปยังกฤษฎีกา เพราะเมื่อมองไปทุกกฎหมาย เเม้กระทั่งกรมสรรพสามิตที่กำลังช่วยอยู่ ตอนนี้ไทยไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นที่สามารถใช้ได้ การมีชุดกฎหมายจะสร้างเครื่องมือใหม่ให้สามารถหยิบมาใช้ได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกบังคับมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อมีเครื่องมือใหม่ เรามีสิทธิ์ในการหยิบมาใช้แล้วจะใช้อย่างไรก็ต้องมีกติกาที่ใช้ให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว