energy

ส่องผลงาน 4 ปี "วิศักดิ์ วัฒนศัพท์" ผอ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

    ส่องผลงาน 4 ปี "วิศักดิ์ วัฒนศัพท์" ผอ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 63 จนใกล้ครบวาระการทำงาน 4 ปี ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้หมดแล้วที่นี่

"วิศักดิ์ วัฒนศัพท์" เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 ผ่านมาถึงวันนี้กำลังจะครบ 4 ปี และครบกำหนดตามวาระของการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าววันที่ 16 ส.ค. 2567

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ถือโอกาสรวบรวมผลงานของ วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับตำแหน่ง ประอบด้วย

ภายหลังจากที่ "วิศักดิ์" เข้ารับตำแหน่งช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์พลังงานในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวจากวิกฤต เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมด้านเศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวน้อยทำให้การบริโภคพลังงานลดลงตามไปด้วย 

ซึ่งในขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายการบริโภคน้ำมันกลับมามีอัตราเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ เริ่มชดเชยก๊าซ LPG ตรึงอยู่ที่ 318บาทต่อถังขนาด 15 กก. เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ภาคครัวเรือน

ส่องผลงาน 4 ปี "วิศักดิ์ วัฒนศัพท์" ผอ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ในต้นปี 2565 เกิดสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคยพุ่งทะลุระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ราคา 30 บาทต่อลิตร 

โดยเคยชดเชยสูงสุดถึง 14 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ ในเวลานั้นติดลบราว 130,000 ล้านบาทจำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดถึง 35 บาทต่อลิตร จึงได้มีการแก้ไขกรอบวงเงินกู้ ตามมาตรา26 วรรคสาม

ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายกรอบเป็น 150,000 ล้านบาท และขอให้รัฐบาลอนุมัติออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพราะกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ มีกรอบวงเงินกู้ยืมได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินในการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงินกู้ 105,333 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
 

ในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงจำนวน 6 ครั้ง เหลือ 32 บาทต่อลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมและในช่วงเวลาที่ลดการชดเชยก็เริ่มมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือประมาณ 49,000 ล้านบาท 

ต่อมาเมื่อได้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่เคยเข้ามาเป็นกลไกช่วยพยุงราคาดีเซลอีกทางหนึ่งได้หมดอายุลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกหลักเดียวในการพยุงราคาน้ำมัน 

อย่างไรก็ดี มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมาตรการการตรึงราคาน้ำมันดีเซล กำหนดเพดานเป็นไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ไว้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ส่วนราคาก๊าซ LPG ตรึงไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. 

ล่าสุดที่ประชุมครม. เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 ได้ขยายมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร เป็นรอบที่สอง ออกไปอีก 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร 

โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท ในส่วนของประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท แบ่งเป็นรายรับประเภทน้ำมันวันละ 81.76 ล้านบาท และรายรับก๊าซ LPG วันละ 6.39 ล้าน แต่กองทุนน้ำมันยังมีการชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.40บาทต่อลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท