ค่าไฟฟ้าปีหน้าจ่อพุ่ง ทยอยเก็บเอฟทีแสนล้าน

02 ส.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 08:00 น.
2.0 k

ประชาชน-ผู้ประกอบการ เตรียมทำใจ ค่าไฟฟ้าปีหน้าจ่อขยับขึ้นอีก เหตุกฟผ.-ปตท.แบกรับภาระหนี้ค่าเอฟทีค้างชำระ 1.1 แสนล้านบาทไม่ไหว ต้องทยอยเรียกเก็บคืนรักษา Credit Rating กกพ.เล็งรับมือฟอร์มทีมฝ่ายนโยบาย หาแนวทางออกตั้งเป้า 4 เดือน มีความชัดเจน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียกเก็บเงินค่าเอฟทีค้างจ่ายเพียง 0.05 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 3,267 ล้านบาท และให้ชะลอการเรียกเก็บเงินค่าส่วนต่างราคาก๊าซฯที่เกินจริง (AF GAS) ค้างจ่ายบริษัท ปตท. จำกัด จำนวน 15,083.79 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย ออกไปก่อน ส่งผลให้ค่าเอฟทีอยู่ที่ 39.72 สตางค์ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงเรียกเก็บในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยตามเดิม  

จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นจะประกาศขึ้นค่าเอฟทีขึ้นไปอยู่ที่ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชําระคืนภาระต้นทุนคงค้างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 27.23 สตางค์ต่อหน่วย และค่าส่วนต่างราคาก๊าซฯที่เกินจริง (AF GAS) ค้างจ่ายบริษัท ปตท. จำกัด 25.02 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11 % จากงวดปัจจุบัน
 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไปแล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นการตรึงค่าไฟฟ้า 2 งวดติดต่อกันมาแล้ว ดังนั้น ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 จึงมีแนวโน้มและมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าไฟฟ้าในปีหน้าจะทยอยปรับขึ้นได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ

ค่าไฟฟ้าปีหน้าจ่อพุ่ง ทยอยเก็บเอฟทีแสนล้าน

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2568 นั้น หากประเมินช่วงปลายปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาวของประเทศแถบยุโรป จะมีการใช้เชื้อเพลิงในการสร้างความอบอุ่น ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซ LNG ในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจุบันราคาก๊าซ LNG อยู่ที่ประมาณ 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ดี คาดว่าหลังจากเดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เมื่อความต้องการใช้ก๊าซ LNG ในตลาดโลกมีอัตราลดลง จะส่งผลให้แนวโน้มราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย โดยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการคำนวณค่าไปในรอบถัดไป (มกราคม-เมษายน 2567) ซึ่งมองว่าอาจจะมีโอกาสได้เห็นค่าไฟของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือถูกลงในอนาคต โดย กกพ. ได้มีการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดและคาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ แต่ก็ต้องติดตามปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิดด้วย เพราะจะเป็นตัวแปรที่สำคัญส่งผลต่อราคาพลังงานได้

ขณะที่เหตุการณ์ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ถูกสังหารในกรุงเตหะรานของอิหร่าน ระหว่างเดินทางไปเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่นั้นคาดว่าจะไม่กระทบต่อราคาก๊าซในระยะยาว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำกัดจึงไม่ต้องการให้ประชาชนต้องตกใจ
 

ส่วนที่ว่าจะสามารถยืนอัตราค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ได้ตลอดทั้งปี 2568 หรือไม่ ต้องเรียนว่าถือเป็นตัวเลขที่ดี เพราะในความคิดเห็นส่วนตัวก็ต้องการให้เป็นแบบนั้น และหากมีราคาก๊าซที่ถูกลง ก็อาจจะเห็นแนวโน้มค่าไฟที่สามารถยืนระดับค่าไฟอยู่ในระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยหรือลดลงได้ แต่การพิจารณาต้องดูปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะความเหมาะสมในการชำระหนี้คืนให้กับกฟผ. และปตท. ซึ่งยอมรับว่า กฟผ.ช่วยแบกรับภาระส่วนนี้ให้กับประชาชนไว้ระดับหนึ่งแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ด้วย

สำหรับภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สะสมที่ 95,228 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 15,084 ล้านบาท รวมหนี้คงค้างชำระประมาณ 110,312 ล้านบาท นั้น กกพ. เองก็พยายามพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ขณะที่โดยรวมแล้วก็ต้องคำนึงถึงประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน ควบคู่ไปกับการพยายามมองหาแนวทางในทยอยการชำระหนี้คืนให้กับ กฟผ. และปตท. โดยเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องมีการหารือกันในระดับนโยบายต่อไป ซึ่งเบื้องต้นในขณะนี้ได้มีการเตรียมการเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้จะต้องมองหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ค่าไฟฟ้าปีหน้าจ่อพุ่ง ทยอยเก็บเอฟทีแสนล้าน

“หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน, กฟผ. และปตท. แล้ว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการให้มีการฟอร์มทีมฝ่ายนโยบายขึ้นมา ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานร่วมด้วย เพื่อช่วยกันหาแนวทางในการกำกับดูแลราคาพลังงานให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าว่าภายใน 4 เดือนนี้จะมีความชัดเจน และมีทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งต้องคำนึงถึงดอกเบี้ยที่ทั้ง กฟผ. และปตท. แบกรับไม่ใช่เพียงเงินต้นเท่านั้น”

นายพูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงในราคาที่เหมาะสมนั้น ในอนาคต กกพ. และภาคนโยบาย ได้มีการส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการซื้อ LNG แบบระยะสั้น (3-5 ปี) ให้เป็นสัญญาแบบระยะยาว หรือมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจะช่วยประกันความเสี่ยงเรื่องของราคาที่อาจเกิดความผันผวนได้ โดยจะช่วยทำให้มีอัตราราคาค่าเชื้อเพลิงที่มั่งคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะปรับใช้กับผู้นำเข้าก๊าซ LNG ทุกรายในระยะต่อไป ส่วนวิธีการ และแนวโน้มการทำสัญญาระยะยาว จะต้องมีช่วงระยะเวลาของตลาดที่มีความเหมาะสมว่าราคาในระยะเวลานั้นสอดคล้องกับทิศทางในตลาดโลกหรือไม่ หากมีราคาที่สูงเกินไปก็อาจจะไม่เป็นผลดีกับประเทศ โดยเป็นเรื่องที่ กกพ. ต้องพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน

“กกพ.พยายามเริ่มต้นส่งเสริมแนวทางดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ก็มีความพยายามลดการนำเข้าก๊าซ LNG แบบระยะสั้นให้น้อยลง และเน้นการนำเข้าที่เป็นแบบสัญญาระยะยาวมากยิ่งขึ้น”

ส่วนสถานะก๊าซในแหล่งอ่าวไทย ช่วงปลายปีนี้ก็จะมีผลผลิตตามมาตรฐานปกติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และต้องติดตามว่าจะมีการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นเข้ามาช่วยในส่วนดังกล่าวนี้ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งถ่านหินและไฟฟ้าจากพลังงานน้ำว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำได้เลยทันทีจากนี้คือทุกคนในประเทศต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลยังตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่ายังเป็นราคาที่ภาคอุตสาหกรรมพอรับได้ แต่ในรอบต่อๆ ไป คงต้องมาลุ้นกันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีก ซึ่งความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ปะทุมาต่อเนื่อง และอาจลามออกไปเป็นวงกว้าง จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ค่าระวาางเรือ ค่าขนส่ง ปรับตัวสูงขึ้น ฉะนั้นถ้าโครงสร้างค่าไฟฟ้า ยังเป็นแบบนี้ก็ต้องลุ้นทุกๆ 4 เดือน ว่าค่าไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ประกอบการ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไปถึงสิ้นปี 2567 แต่เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันย่านอาเซียนถือว่าสูงกว่า อาทิ ค่าไฟฟ้าของเวียดนาม เฉลี่ยที่ 2,006.79 ด่องต่อหน่วย หรือ 2.87 บาทต่อหน่วย มีราคาถูกเป็นอันดับสามของอาเซียน รองจากค่าไฟในสปป.ลาว และเมียนมา ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนประเทศที่มีค่าไฟสูงสุดในอาเซียนคือฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 6.2 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าในเวียดนามจ่ายไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน แยกเป็นประชาชน อุตสาหกรรม ธุรกิจทั่วไป โรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานรัฐในต่างจังหวัด ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมและนอกเขตอุตสาหกรรมจ่ายค่าไฟตาม 3 ช่วงเวลาคือ ชั่วโมงค่าไฟปกติ (Normal Hours) ชั่วโมงค่าไฟสูง (Peak Hours) ชั่วโมงค่าไฟต่ำ (Off Peak Hours) พบว่า ราคาค่าไฟในเขตอุตสาหกรรมของเวียดนามถูกกว่านอกเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลเวียดนามที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ