เปิดสวน 15 นาทีทั่วกรุง แล้ว 141 แห่ง กทม.ย้ำพัฒนาทั้งปริมาณ -คุณภาพสวล.

25 ก.ค. 2567 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 12:48 น.

"ชัชชาติ" เปิดสวน 15 นาทีทั่วกรุง แล้ว 141 แห่งตามนโยบาย เป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตรต่อคน ชี้ภายในปี69 สวน15นาที เพิ่มขึ้นรวม 500 แห่ง กทม.ย้ำพัฒนาทั้งปริมาณ –คุณภาพสิ่งแวดล้อมคนเมือง

 

นโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการเพิ่มจำนวนพื้นที่สวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตรต่อคน และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางประมาณ 800 เมตร โดยมุ่งเน้น คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

 

 

 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำสวน 15 นาทีทั่วกรุง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการแล้วกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวน 141 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค. 67) จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะให้มีสวน 15 นาที เพิ่มขึ้นจำนวน 500 แห่ง ภายในปี 2569 ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ รูปแบบของสวนแต่ละแห่งเป็นไปตามความต้องการใช้งานของชุมชนและลักษณะของพื้นที่

สวน15นาที

ในส่วนของหลักเกณฑ์การประเมินสวน 15 นาที สำนักสิ่งแวดล้อมได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและแนวทางการดูแลคุณภาพของสวน 15 นาทีทั่วกรุง

เพื่อให้ผู้ดูแลทั้งในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตดำเนินการ เพื่อให้สวน 15 นาทีทั่วกรุง คงคุณภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชนผู้ใช้บริการ

โดยแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ 1. เกณฑ์มาตรฐาน (standard) อาทิ การเข้าถึงพื้นที่ซึ่งหมายถึงความครอบคลุมในการเข้าถึงพื้นที่ในระยะเดินและการมองเห็นทางเข้าที่ต้องสามารถเข้าถึงได้จากบ้าน ที่ทำงานหรือระบบขนส่งสาธารณะในระยะเวลาการเดินไม่เกิน 15 นาที มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน

สวน15 นาที

ได้แก่ ป้ายชื่อ ป้ายทางเข้า ถังขยะ ที่นั่ง พื้นที่รองรับการใช้งานพื้นฐานสำหรับสวนขนาดเล็ก กิจกรรมการใช้งานคือมีการใช้งานเชิงสาธารณะและส่งเสริมการใช้งานพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่มในเมืองได้อย่างเหมาะสม มีการออกแบบที่สามารถรองรับและยืดหยุ่นต่อการใช้งานของทุกคน เป็นมิตรและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยทั้งจากอุบัติเหตุและอาชญากรรม

2. เกณฑ์ด้านการมีส่วนร่วม (Inclusive community) อาทิ การร่วมสนับสนุนจากภาคีในการร่วมกันพัฒนา สนับสนุนและบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวสาธารณะ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและร่วมกันดูแลรักษา

3. เกณฑ์ด้านสุขภาวะ (Healthy space) อาทิ จัดให้มีพื้นที่เสริมสร้างสุขภาพ สุขภาวะ การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่สนับสนุนการผ่อนคลายทางจิตใจ เช่น ลานกีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น

และ 4. เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) อาทิ การฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีคุณภาพดีตามลักษณะของสิ่งแวดล้อม การเก็บต้นไม้เดิมในพื้นที่ให้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ มีการใช้พลังงานสะอาดที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียน

โดยแบ่งการประเมินเป็นระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรฐาน พื้นฐาน และดีเยี่ยม ซึ่งสำนักงานเขตที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะเป็นผู้ประเมินสวน 15 นาที ที่ดูแลรับผิดชอบและได้ดำเนินการเปิดให้บริการแล้ว ภายใต้การกำกับของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาที ประจำกลุ่มเขต

สำหรับประชาชนผู้สนใจในการนำที่ดินเข้าร่วมการพัฒนาพื้นที่กับกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ โดยติดต่อได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือที่สำนักสิ่งแวดล้อม โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นต้องมอบที่ดินให้กรุงเทพมหานครนำมาพัฒนาหรือใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7 ปี ซึ่งหน่วยงานจะต้องพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ที่ดินเทียบกับการลดหย่อนภาษีที่ดินให้กับเจ้าของพื้นที่ตามความเหมาะสมต่อไป

สวน15นาที

“การจัดทำสวน 15 นาทีนั้น ไม่ใช่แค่ทำให้สำเร็จตามเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่กรุงเทพมหานครยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและแนวทางการดูแลคุณภาพของสวน 15 นาทีทั่วกรุงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการเปิดใช้งานแล้ว เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คงไว้ตามมาตรฐานและคุณภาพของพื้นที่สีเขียวสาธารณะ สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชนผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง” โฆษกของกรุงเทพมหานคร ย้ำในตอนท้าย