ลงทุนสะสมในนิคมฯ 17 ล้านล้าน กนอ.ลุยปี 68 ดันโรงงานสีเขียว100%

21 ธ.ค. 2567 | 09:19 น.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพันธกิจ หลักในการจัดหาที่ดิน พัฒนาและจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน สนับสนุน และให้บริการอนุมัติ อนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ

ในโอกาสครบรอบ 52 ปี และจะย่างเข้าสู่ปีที่ 53 ภายใต้การบริหารงานของ “นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ” กรรมการ กนอ. ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และทิศทางการดำเนินการ และเป้าหมายในอนาคต จะเป็นอย่างไรนั้น ฟังจากคำให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

อุตสาหกรรมสีเขียว 100%

นายสุเมธ ระบุว่า จะดำเนินการปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างอนาคตนิคมอุตสาหกรรมไทย สู่ความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. โดยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs)

สำหรับปี 2568 ตั้งเป้าลดการปล่อย GHGs ในภาพรวมอย่างน้อย 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมถึงส่งเสริมพลังงานทางเลือก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และยกระดับโรงงานให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว 100% อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาองค์กรในเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ เช่น ECO 5 มิติ ,SMART ECO 4.0 , ISO 14001 เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนงาน Roadmap ของ กนอ. ในการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยมีเป้าหมาย การเข้าถึงนํ้าสะอาด พลังงานสะอาด การจ้างงานที่ดี การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“กนอ.จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้เป็นพื้นที่การลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินการให้กับนักลงทุน สอง ให้ความสำคัญกับคุณภาพของระบบสาธารณูปโภคและการบริการ และสาม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ลงทุนสะสมในนิคมฯ 17 ล้านล้าน กนอ.ลุยปี 68 ดันโรงงานสีเขียว100%

ยอดลงทุนสะสมกว่า 17 ล้านล.

สำหรับสถานภาพการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2567 มียอดเงินสะสมสูงถึง 17.24 ล้านล้านบาท โดยมีนิคมฯที่ กนอ.ดำเนินการเอง และร่วมดำเนินการร่วมกับเอกชนรวม 70 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 17 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 191,515 ไร่ มีโรงงาน 5,318 โรง และมีแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม กว่า 1 ล้านคน
 

กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1. ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะ 2. ผลิตภัณฑ์โลหะ 3. ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 4. ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 5. เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อเมริกา และไต้หวัน

ลงทุนสะสมในนิคมฯ 17 ล้านล้าน กนอ.ลุยปี 68 ดันโรงงานสีเขียว100%

นิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่ พื้นที่สีเขียว 238.32 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 373.35 ไร่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน Floating Solar Farm ระบบ Internet (5G)/IoT และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ

“ขณะนี้นิคมฯ Smart Park มีความก้าวหน้างานก่อสร้าง 100% พร้อมเปิดดำเนินการตามแผน โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย LOW CARBON 
INDUSTRY ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาห กรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล”

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่แบ่งเป็น 3 แปลง ได้แก่ ท่าเรือของเหลว ท่าเรือก๊าซ และคลังสินค้า โดยร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี 
แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (GMTP) ขณะนี้ งานก่อสร้างในช่วงที่ 1 มีความคืบหน้าไปมาก โดยงานขุดลอกและถมทะเล งานก่อสร้างเขื่อนกันทราย และงานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น มีความคืบหน้ากว่า 90%

“กนอ.มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ด้วยนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะโฉมใหม่แห่งอนาคตที่จะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง จะช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ”