แผนบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ โดยร่างแผนดังกล่าวได้ปิดรับฟังความคิดเห็นในเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด นำไปประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างแผนดังกล่าว มีกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง 2.ด้านการบริหารจัดการ นํ้ามันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ให้สอดคล้องกับความต้องการ 3. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งนํ้ามันเชื้อเพลิง และ 4.การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 ล้านตันต่อปี (mtCO2) ภายในปี 2580 เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่ต่อปี
สำหรับการส่งเสริมธุรกิจใหม่ในห่วงโซ่อุปทานนํ้ามันเชื้อเพลิงช่วงปี 2567-2572 ในร่างแผนดังกล่าว ได้มีการผลักดันที่จะให้เกิดการลงทุน ใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และนํ้ามันดีเซลชีวภาพสังเคาระห์ (BHD) เงินลงทุน 56,775 ล้านบาท การพัฒนาปิโตรเคมีขั้นปลายและพลาสติกชีวภาพ เงินลงทุน 56,726 ล้านบาท และการผลิตนํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ เงินลงทุน 400 ล้านบาท รวมเม็ดเงินลงทุน 113,901 ล้านบาท
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต จะเป็นการส่งเสริมการผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570 โดยจะบรรจุไว้อยู่ในร่างแผนบริหารจัดการ นํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024)
ทั้งนี้ การพัฒนาปิโตรเคมีขั้นปลายและพลาสติกชีวภาพนั้น จะเป็นการส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงกระบวนการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์เดิม 4,863 ล้านบาท การต่อยอดและเพิ่มมูลค่า (อาทิ New polymer grade Product upgrade) 15,542 ล้านบาท การลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ 2 หมื่นล้านบาท วิจัยและพัฒนา 6,700 ล้านบาท และลงทุนโครงวร้างพื้นฐาน เช่น ไอนํ้าและไฟฟ้า 9,624 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานของผู้ประกอบการ อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และบริษัท BE เป็นต้น การลงทุนครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง อาทิ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อรองรับมาตรการบังคับภายใต้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์( CO2) ภาคอากาศยานตั้งแต่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว (LTAG) ในการลด CO2 ของภาคอากาศยาน Net Zero Emissions ในปี 2593 นั้น จะเป็นการ ส่งสริมการลงทุนเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ( SAF) มีแนวทางขับเคลื่อน ได้แก่ การผลักดันการใช้วัตถุดิบที่ไทยมีศักยภาพ ได้มาตรฐานความยั่งยืนของหน่วยงานที่ให้การรับรองในระดับสากล (ISCC และ RSB) รวมถึงการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศเพื่อให้วัตถุดิบที่ถูกกีดกันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และพัฒนาหน่วยรับรอง (Certification body)ภายในประเทศ
พร้อมทั้ง ส่งเสริมการลงทุนผลิต SAF ในประเทศเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ขอนแก่น ระยอง ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ โดยจะกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน กำหนดวิธีการจัดเก็บและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต SAF รวมถึงจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและมาตรฐานนํ้ามันเชื้อเพลิงที่ผสม SAF และส่งเสริมการส่งออก SAF โดยใช้กลไกความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศ
อีกทั้ง การส่งเสริมการใช้ SAF จะออกประกาศสัดส่วนการผสม SAF ภาคบังคับสำหรับประเทศไทย การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสาร และกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับสายการบินและผู้โดยสาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการนำนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) นํ้ามันปาล์มดิบ โดยจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acids หรือเ HEFA ผสมในนํ้ามันเครื่องบินสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571 และหลังจากนั้น ปี 2573 จะได้ SAF จากเทคโนโลยี Alcohol to Jet หรือ AtJ ที่ผลิตจากเอทานอลมาเสริม ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผสม SAF เพิ่มขึ้นที่สัดส่วน 3% ในปี 2576 เพิ่มเป็น 5% และจะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2579 เป็นต้นไป
ปัจจุบันมีประเทศที่ประกาศมาตรการบังคับใช้ SAF แล้ว ได้แก่ สหภาพยุโรป(EU) อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งปี 2565 ทั่วโลกมีการผลิต SAF อยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านลิตร คิดเป็น 0.1-0.15% ของการใช้นํ้ามันใช้นํ้ามันเครื่องบิน( Jet A1)
ส่วนการส่งเสริมการผลิตนํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ จำเป็นต้องขอความร่วมมือจาก 3 การไฟฟ้าให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตนํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้แล้ว เป็นลักษณะต้นแบบที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณสมบัติให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลเมื่อมีตลาดจะก่อให้เกิดการลงทุนราว 300-400 ล้านบาท จากความต้องการใช้วัตถุดิบอยู่ที่ 3 ล้านลิตรต่อปี โดยผลิตจากนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) หรือ กรดไขมันปาล์ม( PFAD) เป็นวัตถุดิบหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง