ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย - ธ.ค. 2567
และให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 กรกฎาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ดังนี้
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงจากงวดก่อนหน้า 1.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวด พ.ค. - ส.ค. 2567) เป็น 36.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตลดลง และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูตามสถานการณ์
ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี เป็นสามสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าส่งผลให้ค่าไฟในช่วงปลายปีนี้อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ก.ย. - ธ.ค. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วยจากงวดก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
ในการพิจารณาค่าค่าเอฟที และค่าไฟฟ้า สำหรับงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2567 กกพ. ตระหนักดีและคำนึงถึงผลกระทบทั้งในส่วนของผลกระทบของค่าไฟฟ้าต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน และความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ เพราะนอกจากไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการดำรงชีพแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการจึงมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ และการดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในช่วงที่ภาคพลังงานของประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยในการพิจารณาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ที่เพิ่มขึ้น ยังคงมาจากเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซทั้งก๊าซในอ่าวไทย และ LNG Spot นำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น เพราะก๊าซทั้งสองแหล่งต่างได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาภาวะราคา LNG Spot ในตลาดโลกมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่องทั้งปริมาณและราคาซึ่งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 10 - 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และคาดการณ์ ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2567 ขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังการผลิตได้กลับมาสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน โดยมีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน แต่แหล่งก๊าซในเมียนมาร์ยังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 468 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้านี้อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 483 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง