"ค่าไฟหน่วยละกี่บาท" กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ค่าไฟงวดล่าสุดพ.ค.-ส.ค. 67 กำลังจะสิ้นสุดลง และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องมีการพิจารณาค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 67) ในเร็ววันนี้ เพื่อประกาศให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้า
ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กกพ. เตรียมประชุมบอร์ดในวันที่ 10 ก.ค. นี้ โดยหนึ่งในวาระสำคัญจะมีการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที งวดใหม่ ก.ย. – ธ.ค. 67
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 20-40 สตางค์ จากค่าไฟงวดปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมีหลายปัจจัยหลัก โดยเฉพาะการทยอยคืนชำระหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 98,000 ล้านบาท
โดย กฟผ.มีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย และยังมีหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ต้องทยอยคืนให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับภาระไปงวดก่อนหน้านี้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากค่าเงินบาทซึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง กระทบกับราคาซื้อก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งแนวโน้มความต้องการก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวส่งผลให้ราคาในตลาดเพิ่มขึ้น
"จากหลายปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ค่าเอฟทีงวดนี้มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ซึ่งหลังจากบอร์ดกกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และเห็นชอบการคำนวณประมาณการณ์ค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีแล้ว ขั้นตอนต่อไปทาง กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 3 ทางเลือกต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดจะประกาศผลการพิจารณาก่อนสิ้นเดือนก.ค.นี้ เพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ต้องประกาศค่าไฟใหม่ล่วงหน้า 1 เดือน"
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หากดูจากหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบในการคิดค่าไฟ ต้องยอมรับว่าค่าไฟงวดสุดท้ายของปี 67 มีแนวโน้มปรับขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่กฟผ.ไปกู้เงินมาช่วยประชาชนไปก่อน มีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยงวดละหลายร้อยล้านบาทแล้ว
หากยิ่งชำระคืนหนี้ให้กฟผ.ช้า จะยิ่งทำให้ต้องกฟผ.ต้องแบกรับภาระจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม หากปล่อยไปเรื่อยจะยิ่งกระทบกับเรตติ้งของกฟผ.ได้ และที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลได้ช่วยเหลือค่าไฟกลุ่มเปราะบาง ลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ส่งผลให้การใช้ไฟเดือนเม.ย. 67 พุ่งขึ้นถึง 20% เทียบกับเม.ย.ของปี 66 ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การที่ทำให้ค่าไฟถูกเกินต้นทุนจริง ทำให้ประชาชนไม่ประหยัดการใช้ไฟมากนัก ยิ่งทำให้ส่งผลไม่ดีในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ส่วนกรณีหากสุดท้ายแล้ว กกพ.มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีเพื่อสะท้อนต้นทุน และลดภาระกฟผ. แต่รัฐบาลยังต้องการตรึงราคาค่าไฟงวดสุดท้ายให้อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาทตามเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพประชาชน ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในการหางบประมาณ หรือหาแนวทางมาช่วยเหลือเช่นเดียวกับงวดปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง