"พลังงาน" งัดข้อกฏหมายปิดช่องผู้ค้าน้ำมันโก่งราคาแพง ผลักภาระให้ประชาชน

16 มิ.ย. 2567 | 13:29 น.

"พลังงาน" งัดข้อกฏหมายปิดช่องผู้ค้าน้ำมันโก่งราคาแพง ผลักภาระให้ประชาชน หลังไม่มีการควบคุมการนำค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมารวมกับเนื้อน้ำมันแท้ก่อนขาย ทำให้ต้นทุนคลาดเคลื่อน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เพื่อพิจารณาร่างแนวทางการจัดตั้งสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเชื้อเพลิงของประเทศไทย ว่า

ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่านายหน้าจากการซื้อขายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นในประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงานกำลังยกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำค่านายหน้า และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรง ในการได้มาซึ่งน้ำมันมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้แทนในท้ายที่สุด 

ทั้งนี้ เรื่องหนึ่งที่เป็นกังวลเกี่ยวกับต้นทุนน้ำมันในปัจจุบัน ก็คือ เรื่องค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรงในการซื้อน้ำมัน หากสามารถนำค่านายหน้ากับค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาบวกกับค่าน้ำมันแท้ๆ ก็สามารถนำค่าอย่างอื่นมาบวกทำให้ต้นทุนสูง ทำให้ต้องขายราคาเท่าที่กำหนด เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงคือเท่าไหร่
 

เนื่องจากมีการนำรายจ่ายอย่างอื่นที่ไม่มีเหตุจําเป็นมารวม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะไม่มีกฎหมาย เลยกลายมาเป็นภาระของประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะไปตรวจละเอียดได้หมดทุกรายการ 

"พลังงาน" งัดข้อกฏหมายปิดช่องผู้ค้าน้ำมันโก่งราคาแพง ผลักภาระให้ประชาชน

แต่หากมีกฎหมายแยกไว้เฉพาะ โดยกําหนดไว้ว่า สิ่งที่จะมาบวกเป็นต้นทุนน้ำมัน คือ 1.ค่าน้ำมันจริง ,2. ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนจะมีค่านายหน้าหรืออ้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเนื้อน้ำมันแท้ก็มีไป แต่นำมารวมไม่ได้ คุณอยากให้บริษัทคุณมีภาระเยอะๆ เพื่อจะไปลดกําไร เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเยอะ หรืออะไร ก็เลือกทำได้ตามสบาย แต่คุณจะเอาค่าใช้จ่ายพวกนั้นมาโยนให้ประชาชนผ่านต้นทุนน้ำมันไม่ได้   สิ่งที่เราไม่มีวันนี้คือ เรายังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจทำแบบนี้ แต่นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และสปป.ลาว รวมถึงกฎหมายพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาน้ำมัน และกฎหมายพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ 

ทั้งด้านรูปแบบการจัดเก็บ ที่มาของเนื้อน้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ แหล่งเงิน การบริหารจัดการ และองค์กรที่กำกับดูแล  เพื่อร่างแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย  ซึ่งมีเป้าหมายการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวมไม่น้อยกว่า 90 วัน ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายโดยภาคเอกชนอยู่ที่ 25 วัน
 

โดยกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้จะดำเนินการผ่าน สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ทำหน้าที่กำกับและออกคำสั่งไปยังภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของภาครัฐ  

สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการร่างกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 6 ฉบับ และจะมีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปยังสสนช. ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งการเตรียมการจัดหาพื้นที่สำหรับการเก็บสำรองน้ำมัน

"ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR มีประโยชน์ในภาพรวม โดยสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุนการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศในช่วงตลาดโลกราคาสูง และยังสามารถเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาค"