"ส.อ.ท." ชี้แผน "PDP 2024" ค่าไฟยังแพง-ไม่ตอบโจทย์พลังงานสีเขียว

13 มิ.ย. 2567 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 10:04 น.

"ส.อ.ท." ชี้แผน "PDP 2024" ค่าไฟยังแพง-ไม่ตอบโจทย์พลังงานสีเขียว เผยมีพัฒนาการของแผนที่ดีขึ้น เผยนโยบายการเปิดเสรีไฟฟ้า และการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้กับบุคคลที่สามควรเร่งส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยโดยแสดงจุดยืนของ ส.อ.ท. ต่อ (ร่าง) แผน PDP 2024 ว่า เห็นพัฒนาการของแผนที่ดีขึ้น แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสีเขียว และ ราคาค่าไฟฟ้าที่ยังสูง 

หลักการ 3 ด้าน ประกอบด้วย 

ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ; ควรเน้นเปิดเสรี และ มองความคุ้มค่าต้นทุนที่ต้องจ่ายไปกับความมั่นคง 

นโยบายการเปิดเสรีไฟฟ้า และการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้กับบุคคลที่สาม (TPA) 

  • ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดแผนการ Implementation และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อรองรับความต้องการ Green Energy ของภาคอุตสาหกรรม
     

พิจารณาสัดส่วน Demand & Supply ให้เหมาะสม ไม่สร้างปัญหา Supply over Demand มากเกินไป 

  • ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และความคุ้มค่า เปรียบเทียบกับการยืดอายุโรงไฟฟ้าเดิมแทนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ต้องมีสัญญาผูกพันไปอีก 20-25 ปี และทบทวนการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป 
  • ควรพิจารณานำเทคโนโลยี AI มาช่วยการพยากรณ์ 
  • กรณี LOLE นั้น ควรมีการกำหนดเกณฑ์เป็นช่วงที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดเกณฑ์ค่าต่ำและเกณฑ์ค่าสูง (ปัจจุบันเกณฑ์ค่าสูง คือ 0.7 วัน/ปี) และมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย

สัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ควรมีการพิสูจน์ และติดตามว่าสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายของแผนหรือไม่อย่างใกล้ชิดในแต่ละช่วงเวลา

ภาครัฐควรส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ให้กับภาคเอกชน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) เพื่อเกิดการกระจายลงในระบบ Distribution ตามพื้นที่ และเกิด Optimization ในระบบไมโครกริด เพื่อลดการผูกขาด
 

ราคาเหมาะสมและเป็นธรรม ; โปร่งใส รอบคอบ  ปิดความเสี่ยงจากราคาพลังงานฟอสซิลผันผวน 

ควรมีการเปรียบเทียบต้นทุนพลังงาน ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ให้เห็นถึงโรงไฟฟ้าที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อความสามารถต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม  โดยแสดงข้อมูลให้ชัดเจน เช่น ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุของโรงไฟฟ้าหารด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Levelised Cost of Electricity : LCOE) เป็นต้น

กรณีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ควรทบทวนบทเรียนจากอดีต 

  • ค่า EP ไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค 100% แบบ Cost plus
  • ควรทบทวนสูตรให้โรงไฟฟ้ารับภาระความเสี่ยงจากการผันผวนของ NG บ้างตามสมควร
  • ค่า AP ควรลดลงจากสัญญาเดิม 50% โดยเฉพาะหลังการคืนทุน

ควรพิจารณาการใช้พลังงานหมุนเวียนผสมผสานกับระบบกักเก็บพลังงานที่สามารถประกันราคา ได้ตลอดอายุสัญญาเป็นหลัก มากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากความผันผวนของราคานำเข้า LNG 

มุ่งสู่เป้าพลังงานสะอาดของประเทศ ; เปิดกว้างรับเทคโนโลยี่ และความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากขึ้น

การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศ มีเป้าหมายการปลดปล่อย CO2 ที่ต่ำมาก โดยเน้นลดการปลดปล่อยในภาค Energy Industries และ Transportation แต่ยังขาดแผนที่ชัดเจนในภาคส่วนดังกล่าว เพื่อให้ภาคการผลิตไฟฟ้าสามารถปรับลดการปลดปล่อย CO2 ได้บนความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์

ควรเร่งการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีอื่น มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี พลังงานสะอาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ   โดยเฉพาะเรื่อง Carbon Capture, Utilization, and Storage เช่น การประโยชน์จากแหล่ง Lignite ในประเทศ ซึ่งภาครัฐควรร่วมเอกชนใกล้ชิดในการเปิดเวทีกว้าง เพื่อทางเลือกพลังงานใหม่ที่มีราคาถูกลง ให้บรรลุเป้าหมายและตอบโจทย์ Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ อีกทั้งกรณีที่มีการเติมไฮโดรเจน (H2) เข้าไปผสมกับก๊าซธรรมชาติ ที่ควรมีการพิจารณาถึงเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมด้วย

ควรเร่งพัฒนาศูนย์สารสนเทศด้านพลังงาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้