sustainable

"ฝุ่นพิษ PM 2.5" ทำคนไทย 10.5 ล้านราย ป่วยสารพัดโรคจากอากาศแย่

    เปิดสถิติการป่วยของคนไทย ที่เผชิญกับฝุ่นพิษ PM 2.5 – มลภาวะทางอากาศ พบป่วยสารพัดโรค กว่า10.5 ล้านราย พึ่งสูงขึ้นจากปี 65

"ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5” ต่อสุขภาพของประชาชนคนไทย ถูกบันทึกสถิติอยู่ในระบบข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 และปรากฏอยู่ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 /2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

พบว่าผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มีจำนวน 10.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 3.6% ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งพบมากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายโรคสำคัญจากฝุ่นละออง PM 2.5 และรายจังหวัด ในปี 2566 พบว่า โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 39.1%  โดยพบผู้ป่วยมากสุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 
 

รองลงมาเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 19.7% โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 16.8% โดยพบมากสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 

สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.1 แสนราย โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยสูงกว่าพื้นที่อื่น

ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น 

สถิติฝุ่นพิษ PM2.5 ทำลายสุขภาพคนไทย

ฐานเศรษฐกิจ พบว่าในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4-2566 ได้ทำตารางสถิติ “จำนวนผู้ป่วยโรคสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2565 – 2566” พบข้อมูลดังนี้ 

โรคหลอดเลือดสมอง

  • 2565 ป่วย 1.3 ล้านคน อันดับ 1.นครราชสีมา 5.9 หมื่นคน 2.กทม. 5.7 หมื่นคน
  • 2566 ป่วย 1.6 ล้านคน อันดับ 1.กทม. 7.1 หมื่นคน 2. นครราชสีมา 6.8 หมื่นคน

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

  • 2565 ป่วย 1 ล้านคน อันดับ 1. เชียงใหม่ 5.4 หมื่นคน 2.นครศรีธรรมราช 4.2 หมื่นคน
  • 2566 ป่วย 1.1 ล้านคน อันดับ 1. นครศรีธรรมราช 4.7 หมื่นคน 2.เชียงใหม่ 4.5 หมื่นคน

โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

  • 2565 ป่วย 6 แสนคน อันดับ 1.นครศรีธรรมราช 2.29 หมื่นคน 2.นครราชสีมา 2.23 หมื่นคน
  • 2566 ป่วย 8.3 แสนคน อันดับ 1.นครราชสีมา 3.1 หมื่นคน 2. นครศรีธรรมราช 3 หมื่นคน

โรคมะเร็งปอด

  • 2565 ป่วย 1.8 แสนคน อันดับ 1.กทม. 1.19 หมื่นคน อันดับ 2.เชียงใหม่ 1.17 หมื่นคน
  • 2566 ป่วย 2.2 แสนคน อันดับ 1.กทม. 1.7 หมื่นคน อันดับ 2 เชียงใหม่ 1 หมื่นคน

โรคหอบหืด

  • 2565 ป่วย 7.3 หมื่นคน อันดับ 1.ขอนแก่น 6 พันราย อันดับ 2. อุบลราชธานี 5.4 พันราย
  • 2566 ป่วย 8.7 หมื่นคน อันดับ 1. ขอนแก่น 8.6 พันราย อันดับ 2. อุบลราชธานี 7.2 พันราย

โรคหัวใจขาดเลือด

  • 2565 ป่วย 1.9 หมื่นคน อันดับ 1.นนทบุรี 719 ราย อันดับ 2. ชลบุรี 711 ราย
  • 2566 ป่วย 2 หมื่นคน อันดับ 1.กทม. 1 พันราย อันดับ 2. ชลบุรี 821 ราย

รายงานภาวะสังคมไทย ของสภาพัฒน์ระบุข้อเสนอและทางออกของปัญหาด้วยว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีแนวทางการแก้ไขที่สำคัญ คือ 

  1. การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
  2. การควบคุมปริมาณการปล่อยสารมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม 
  3. การลดการเผาหญ้าหรือขยะมูลฝอยในที่โล่ง
  4.  การส่งเสริมให้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ ยังต้องสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 4/2566