คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด กฟผ. ได้บุคคลที่ผ่านการคัดเลือกครบ 10 รายเรียบร้อยแล้ว จากการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจที่มี นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา
โดยมีการคาดหมายว่าจะถูกนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.พ. 67) แต่ปรากฏว่าวาระดังกล่าวไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ที่ประชุม
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงรายชื่อบอร์ดผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นบอร์ด กฟผ.มาถึงรัฐบาลแล้ว และไม่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง เนื่องจากผ่านขั้นตอนคณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติ
ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าว ระบุว่า เมื่อรายชื่อบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่มาถึงรัฐบาลก็ต้องตรวจสอบคร่าว ๆ อีกเล็กน้อย cross check แบบรวดเร็ว ว่ามีคดีหรือไม่ อยู่ระหว่างขั้นตอนใดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ แต่ถ้ามีเวลาก็จะตรวจเรื่องคดีด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ารายชื่อบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ จะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาวันนี้ (20 ก.พ. 67)
สำหรับรายชื่อ "บอร์ด กฟผ." ทั้ง 10 ราย ประกอบด้วย
จะเห็นว่าจาก 10 รายชื่อดังกล่าว มีกรรมการชุดเก่าจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ,นายกุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และน.ส.นิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ก่อนหน้านี้นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เมื่อกฟผ. มีบอร์ดบริหารแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการแต่งตั้งผู้ว่าการฯกฟผ.คนใหม่ เพื่อแทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566
ซึ่งบอร์ด กฟผ. จะเชิญนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566
นอกจากนี้ บอร์ดทั้ง 10 คนจะต้องหารือกับนายเทพรัตน์ โดยเฉพาะหลักการเรื่องการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น การดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง และสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
"เรื่องสำคัญคือการทำงานของบอร์ดและผู้ว่าฯ กฟผ. จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าหากนับอายุการทำงานปัจจุบันจะทำให้นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติเหลือระยะเวลาทำงานไม่ถึง 2 ปีนั้น จะยังคงยึดหลักเกณฑ์การนับอายุในวันที่สมัคร ถือว่ายังมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง