"กฟผ."ปักเป้าธุรกิจขึ้นแท่นแหล่งพลังงานสีเขียวภูมิภาค

12 ก.พ. 2567 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 17:04 น.

"กฟผ."ปักเป้าธุรกิจขึ้นแท่นแหล่งพลังงานสีเขียวภูมิภาค พร้อมเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

นางรังสินี ประกิจ ผุ้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ "NEW BUSINESS กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในงาน POSTTODAY x TDRI ECONOMIC DRIVES 2024 ว่า กฟผ.ยังคงต้องเป็นฐานให้กับการเติบโตของประเทศไทยและธุรกิจอื่นที่จะต่อยอดจากความมั่นคงด้านพลังงานที่มีอยู่ โดยการทำธุรกิจใหม่ของ กฟผ. ต้องถือว่าเป็นของแถม ซึ่งอาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และพันธมิตรในการสร้างบุคลากรให้มีแนวความคิดใหม่ ไม่ใช่ลักษณะของรัฐวิสาหกิจดั้งเดิมทำให้เกิดการเติบโต หรือแนวคิด

ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมของกฟผ. จะเป็นรูปแบบเดิม แต่กฟผ. ไม่ได้มีแค่บริษัทเดียว แต่ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 บริษัท โดยมีการปรับเปลี่ยน หรือมุ่งเน้นไปสู่พลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องบอกว่ามีความเขียวทั้งในพอร์ต และการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่เข้ามา กฟผ. เองก็เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การลงทุนสร้างสถานีชาร์จอีวี ที่องค์กรอื่นยังไม่กล้าลงทุน

"กฟผ.เปรียบเสมือนฟันเฟืองส่วนหนึ่งในยุคแรกๆที่กล้าลงทุนและช่วยขับเคลื่อนให้การใช้รถไฟฟ้ามีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น"

การสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้วยการเสาะหาสตาร์ทอัพใหม่ (Startup) ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ โดยแผนการธุรกิจของ กฟผ.นั้น ท้ายที่สุดก็คือการต้องการเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวของภูมิภาค (Reginal Green Energy) 

"กฟผ."ปักเป้าธุรกิจขึ้นแท่นแหล่งพลังงานสีเขียวภูมิภาค

โดยมีโปรเจคโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำกับตัวโซลาร์บนผืนน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวและมีผู้ให้ความสนใจร่วมลงทุนจำนวนมาก

สำหรับเป้าหมายของ กฟผ. ก็คือในปี 2593 ยังตั้งเป้าในการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยแผน Triple S ประกอบด้วย 
 

  • Sources Transformation การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
  • Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน เช่น โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน 
  • Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ