zero-carbon
718

กทม.เฉลยทำไมค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่

    กทม.เปิดเหตุผลทำไมค่าฝุ่น PM2.5 ในเมืองกรุงพุ่งสูง เกินเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมตรวจสอบค่าฝุ่นบ่ายวันนี้ พื้นที่ใดเสี่ยงบ้าง เช็คเลย

สถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.00-14.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 20.9-52.2 มคก./ลบ.ม.  ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 31.6 มคก./ลบ.ม. โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 9 พื้นที่ คือ

1.เขตคลองสาน

2.เขตบางกอกน้อย

3.เขตบึงกุ่ม

4.เขตทวีวัฒนา

5.เขตหนองแขม

6.เขตบางบอน

7.เขตหนองจอก

8.เขตประเวศ

9.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา

ค่า PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐาน

 

ขณะที่แนวโน้มค่าฝุ่น ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 6 ก.พ. 67) พื้นที่เฝ้าระวัง ค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง จำนวน 9 พื้นที่ ได้แก่

  1. คลองสามวา 
  2. มีนบุรี 
  3. สะพานสูง 
  4. ตลิ่งชัน 
  5. บางกอกน้อย 
  6. ทวีวัฒนา 
  7. บางแค 
  8. หนองแขม 
  9. บางบอน
     

แนวโน้มค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหรับค่าฝุ่น PM 2.5 ในกทม. ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้น ล่าสุดทางกรุงเทพมหานคร ได้มาไขข้อข้องใจพร้อมเปิดเหตุผลว่าทำไมค่าฝุ่นถึงสูงขึ้นจนเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

 

ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ สูงขึ้น 

  • ฝุ่นจากภายนอกกรุงเทพฯ และจากภายนอกประเทศ จากรายงานเกิดจากการเผา โดย 84% ของวันที่เกิน 37.5 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด และ 100% ของวันที่เกิน 50 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด

 

ข้อมูลการตรวจพบจุดเผาทั้งในประเทศ และ ประเทศเพื่อนบ้าน

จุดเผาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน

  • ปี 2566 พบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 25,856 จุด 
  • ปี 2567 เพิ่มเป็น 49,983 จุด 
  • มากขึ้นถึง 93% 

ในประเทศพบจุดเผาในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก

  • ปี 2566 พบจุดเผา จำนวน 5,981 จุด 
  • ปี 2567 ลดลงเหลือ 3,252 จุด 
  • ลดลง 46% 

ในพื้นที่กรุงเทพฯ

  • ปี 2566 พบจุดเผา 6 จุด
  • ปี 2567 พบจุดเผา 1 จุด 
  • ลดลง 83%
     

ข้อมูลการตรวจพบจุดเผาทั้งในประเทศ และ ประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าฝุ่นจากเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดิน ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จตุจักร เทียบกับ เครื่องตรวจวัดเสาสูงระดับ 110 เมตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

  • เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินสูงกว่า 50 มคก.ลบ.ม. = มีโอกาส 71% ที่ค่าฝุ่นของของเครื่องตรวจ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างมีนัยยะ (มากกว่า 10 มคก.ลบ.ม.)
  • เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินต่ำกว่า 37.5 มคก.ลบ.ม. = มีโอกาส 80% ที่ 1) ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะตํ่ากว่า หรือ 2) ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างไม่มีนัยยะ (ในอัตราที่น้อยกว่า 5 มคก.ลบ.ม.)

 

อย่างไรก็ตาม จุดความร้อน (Hot Spot) คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ การได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการที่ว่า ดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ (อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) บนพื้นผิวโลก จากนั้นก็ประมวลผลแสดงในรูปแบบจุด 
 

กทม.ไขข้อข้องใจ ทำไมค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่