เป้าหมายไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของโลกใกล้เป็นจริงขึ้นทุกขณะ ข้อมูลจากบีโอไอระบุ ณ ปัจจุบัน มีต่างชาติ และนักลงทุนไทยได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง และสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่ารวม 77,260 ล้านบาทและนับจากนี้คาดจะมีการขอรับการส่งเสริมอีกจำนวนมาก
ขณะ 4 ค่ายยักษ์ใหญ่รถยนต์ญี่ปุ่น(TOYOTA, HONDA, ISUZU, MITSUBISHI) ประกาศเตรียมลงทุนเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์สมัยใหม่ในไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า เม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 150,000 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมค่ายยานยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ข้างต้นจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 227,260 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบ 2 โจทย์สำคัญ คือ 1.เรื่องสิ่งแวดล้อม EV จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และนำประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และ 2.การสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคและเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานานกว่า 50 ปี โดยมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ของโลก
ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 หมายถึง ประเทศไทยจะมีการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2030(2573) หรือคิดเป็นประมาณ 725,000 คันต่อปี
ขณะที่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV3.5 ช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้สิทธิประโยชน์ใน 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
“ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ. 2567 – 2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ”
นอกเหนือจากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปแล้ว บีโอไอยังได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไป โดยกำลังเตรียมจัดทำข้อเสนอในหลายประเด็นสำคัญ เพื่อเสนอต่อบอร์ดอีวีในช่วงต้นปี 2567 เช่น การกำหนดอัตราค่าไฟที่เหมาะสมสำหรับการอัดประจุไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) การส่งเสริมการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่และเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้บอร์ดอีวีเพื่อขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง