zero-carbon

“กสิกรไทย” อัดสินเชื่อสีเขียว 1.75 แสนล้าน หนุนธุรกิจลด CO2

    กสิกรไทยเดินหน้าแผน Net Zero ขอบเขตที่ 1-2 ภายในปี 2573 ลุยอัดฉีดปล่อยสินเชื่อและการลงทุนยั่งยืนราว 1.75 แสนล้านบาท ใน 7 ปี ล่าสุดสนับสนุน GC 10,000 ล้าน และอินโดรามา เวนเจอร์สอีก 3,000 ล้าน ลุยต่อขอบเขตที่ 3 จัดทำแผนกลยุทธ์ให้ความรู้ลด CO2 ใน 5 กลุ่มธุรกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้ประกาศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร Scope 1 และ 2 ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) พร้อมกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศในปี 2608 และยังจัดสรรเงิน 1-2 แสนล้านบาท ปล่อยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนดังกล่าว ด้วยการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ ปรับกระบวนการทำงาน และส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกค้าและพนักงาน เช่น ปี 2566 เปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ภายใน กิจการธนาคารเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 175 คัน ทั้งรถยนต์ที่ใช้ในสาขาและรถยนต์ของผู้บริหารธนาคาร และเปลี่ยนนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

นอกจากนี้ จะทยอยติดตั้ง Solar Cell ในอาคารสำนักงานหลักทั้ง 7 แห่ง และพื้นที่สาขา 7 สาขา โดยตั้งเป้าไว้จะทยอยติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ครบทุกสาขาที่เป็นพื้นที่ของธนาคารรวม 278 แห่ง ภายใน 2 ปีนี้ และซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) การซื้อคาร์บอนเครดิต

“กสิกรไทย” อัดสินเชื่อสีเขียว 1.75 แสนล้าน หนุนธุรกิจลด CO2

รวมถึงการวางแผนปรับเปลี่ยนวัสดุในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดลงให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน

อีกทั้ง ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะใน 4 อาคารหลัก ได้แก่ สำนักงานใหญ่พหลโยธิน อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารแจ้งวัฒนะ และอาคาร KBTG เพื่อให้มีของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ภายในปี พ.ศ.2566 โดยติดตั้งถังขยะ 6 ประเภท ได้แก่ เศษอาหาร วัสดุรีไซเคิล ขยะเผาเป็นพลังงาน ขยะปนเปื้อน ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste และยังสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในวงกว้าง

นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า ธนาคารยังมีการสนับสนุนลูกค้าให้เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) ด้วยการตั้งเป้าหมายสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในช่วงปี 2567-2573 ราว 1.75 แสนล้านบาท หรือประมาณปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท (ปี 2566-2573) ในการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (ขอบเขตที่ 3) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย

การดำเนินงานที่ผ่านมาได้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan : SLL) จำนวน 10,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนี้ ยังสนับสนุนอีก 3,000 ล้านบาทให้กับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เพื่อสร้างการเติบโตที่สมดุลย์และเดินหน้าสู่ ESG อย่างยั่งยืน

ล่าสุดกสิกรไทย ยังจับมือกับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ลงนามร่วมโครงการ  GoGreen Plus เพื่อสนับสนุนการขนส่งเอกสารทางการค้าข้ามประทศด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life-cycle Carbon Footprint) ได้ราว 70-80% เทียบกับการใช้นํ้ามันเครื่องบินทั่วไป

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยังได้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 และเป็นวิทยากรร่วมเสวนาในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) การประชุมรัฐภาคีฯ ในหัวข้อ “Driving Higher Education for Global Action” นำเสนอในเรื่อง “Explore opportunities for collaboration between banks and educational institution in driving climate action” พร้อมทั้ง จัดนิทรรศการเสนอการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ธนาคารปรับการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1 และ 2) และการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) ด้วยการจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) การพัฒนาบริการ Beyond Banking Carbon Credit Solutions เพื่อสนับสนุนให้เกิด Ecosystem และส่งเสริมตลาดการซื้อขาย Carbon Credit ของประเทศไทย

ที่ผ่านมาได้จัดงาน Decar bonize Now สัมมนาเชิงลึกให้กับลูกค้าธุรกิจ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจส่งออก เพื่อช่วยธุรกิจวางแผนงาน เพิ่มโอกาสแก่ธุรกิจด้วยเครื่องมือและโซลูชันหลากหลายตอบโจทย์แบบเจาะลึกรายธุรกิจ และกระตุ้นภาคธุรกิจให้ปรับตัวสอดรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ESG) รวมทั้งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่าน