กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูซีแอล (University College London: UCL) ในกรุงลอนดอน ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ได้ทำการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ของ สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ที่มีต่อ แมลงผสมเกสร โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแมลงผสมเกสรที่มาจากกว่า 100 ประเทศ ทั้งจากพื้นที่ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ของโลก
ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกได้มีการบันทึกเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อพืชพันธุ์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่การศึกษาของนักวิจัยยังชี้ว่า ประเด็นนี้สอดคล้องกับการที่ประชากรแมลงผสมเกสรก็มีจำนวนลดลงด้วย
การศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่ประชากรผึ้งเท่านั้น แต่รายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในวารสาร Science Advances ได้ขยายขอบเขตการศึกษาครอบคลุมถึงแมลงผสมเกสรประเภทอื่นๆ อาทิ ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน แมลงปีกแข็ง และแมลงวัน
"ภาวะโลกร้อน" ยังส่งผลทำให้ประชากรแมลงผสมเกสร ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างอาหารให้กับมนุษยชาติมีจำนวนลดลงด้วย
ในธรรมชาติ แมลงมีสายพันธุ์ต่างๆ หลายแสนชนิด แต่ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลของแมลงจากทั่วโลกมาได้จำนวน 3,000 ชนิด และมุ่งเน้นไปยังพื้นที่เขตร้อน ซึ่งมีการปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น โกโก้ และกาแฟ
รองศาสตราจารย์ ทิม นิวโบลด์ นักชีววิทยาด้านสัตววิทยาและการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัย UCL และเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้อธิบายว่า การศึกษานี้มุ่งเน้นไปยังพืชสองชนิดข้างต้น คือ โกโก้กับกาแฟ เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ถูกผลิตในพื้นที่เขตร้อน และจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยของสภาพภูมิอากาศใหม่ รวมถึงจำนวนแมลงผสมเกสรที่ลดลงด้วย
นักวิจัยยังอธิบายถึงเหตุผลที่มุ่งเน้นไปยังพื้นที่เกษตรกรรมว่า เป็นเพราะนี่หนึ่งเป็นวิธีหลักที่มนุษย์ใช้สอยประโยชน์จากที่ดิน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีที่ดินอีกจำนวนมากถูกแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เหล่าแมลงผสมเกสรในพื้นที่เขตร้อน คือเหยื่อที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง และจะมีผลสืบเนื่องไปยังพืชผลการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลกอีกด้วย รายงานของ UCL ชี้ว่า ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพของเหล่าแมลงได้ปรับลดลงราวครึ่งหนึ่ง
เหล่าแมลงผสมเกสรในพื้นที่เขตร้อน คือเหยื่อที่กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง
ทิม นิวโบลด์ นักชีววิทยาด้านสัตววิทยาและการอนุรักษ์ จากมหาวิทยาลัย UCL กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเกษตรและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังส่งผลที่รุนแรงต่อเหล่าแมลงผสมเกสร มากกว่าแมลงโดยทั่วไป นอกจากนั้น ในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมากจนเกิดสภาพอากาศแบบใหม่ เราจะเห็นความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงผสมเกสรลดลงกว่า 60% ด้วย
ในภาพรวมนั้น การสูญเสียแมลงผสมเกสรทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น ในอนาคต เราอาจต้องใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จำเป็นต้องหาวิธีผสมเกสรทดแทนแมลงเหล่านี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำการเกษตรทะยานสูงขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง