sustainable
743

ส่องโอกาส-ผลกระทบไทย เมื่อ EU ห้ามนำเข้าสินค้าจากการตัดไม้ทำลายป่า

    ส่องโอกาสเเละผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อ EU ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR)

สหภาพยุโรป EU ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) เมื่อ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กำหนดการส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบัน EUDR ยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนเริ่มนำมาใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธันวาคม 2567

วิจัยกรุงศรี ออกบทวิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก EUDR ในระดับโลก เนื่องจาก เป็นกฎระเบียบที่ก้าวหน้าและเข้มงวดกว่าที่เคยมีมา จึงสร้างความกังวลแก่ผู้นำเข้าและส่งออกของแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กฎหมาย EUDR ครอบคลุมการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 401.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดในปี 2565 มาจากสินค้ากลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้มากที่สุด หรือคิดเป็น 56.3% ของการนำเข้าสินค้า EUDR ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (15.1%) ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก 

ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เยอรมนี จีน และโปแลนด์  โดยเยอรมนีนับว่าเป็นซัพพลายเออร์สินค้า EUDR ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค สะท้อนจากการเป็นแหล่งนำเข้าที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของทุกกลุ่มสินค้า EUDR ขณะที่ โปแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเบลเยียม เป็นผู้ส่งออกสินค้า EUDR รายใหญ่

ดังนั้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าจากภายในหรือภายนอกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR เดียวกัน เเต่เนื่องจากสัดส่วนการค้าผลิตภัณฑ์ EUDR ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับการค้ารวมของภูมิภาค จึงคาดการณ์ว่าผลต่อการค้าของสหภาพยุโรปจะจำกัดในช่วงแรก แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อขยายขอบเขตสินค้าของ EUDR ในอนาคต

ในฝั่งคู่ค้านอกสหภาพยุโรป จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปตามการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป

ผลกระทบต่อไทย 

EUDR ไม่ได้กำหนดให้ต้องจ่ายต้นทุนของการตัดไม้ทำลายป่า แต่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไม่ต่างจาก มาตรการ CBAM ในแง่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบและรายงานว่าการผลิตสินค้าเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนด ในภาพรวมแล้ว คาดว่า EUDR จะส่งผลต่อไทยในด้านต่างๆ ดังนี้

  • โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน ในด้านต่างๆ ได้แก่ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการรายงานและตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทาน
  • ผู้ประกอบการรายย่อยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR
  • ไทยอาจค่อยๆ หลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนโลก หากถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

 

"โอกาส" หากไทยเตรียมพร้อมและปรับตัวได้ดี

โดยเฉพาะด้านการพัฒนาระบบจัดเก็บและติดตามข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs จะเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนทั้งในสหภาพยุโรปและห่วงโซ่การผลิตโลก เเละยังช่วยยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในประเทศให้สอดคล้องกับแนวโน้มการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนของโลกมากขึ้น

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม Research Intelligence