ปตท.สผ.ลุย CCS ยื่น Premium T-VER ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน

04 ธ.ค. 2566 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2566 | 12:49 น.

อบก.เผย ปตท.สผ.จ่อตัดสินใจลงทุนโครงการกักเก็บคาร์บอน CCS มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในแหล่งอาทิตย์ แล้ว หลังยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER ขึ้นทะเบีบนรับรองคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน คาดปตท.สผ. ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ ภายในไตรมาสแรก 2567

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รายงานว่า จากที่ อบก.ได้มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อให้ผู้พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถยื่นขอรับรองตคาร์บอนเครดิตนำไปจำหน่ายสร้างรายได้หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้มีการยกระดับเป็นมาตรฐานขั้นสูง หรือ Premium T-VER เพื่อสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตได้ในวงที่กว้างทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับของสากล

ล่าสุด อบก.ได้ประกาศประเภทโครงการ ดักจับ กักเก็บ และ/หรือ การใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก เข้ามาอยู่ในประเภทโครงการ Premium T-VER ซึ่งผู้พัฒนาโครงการที่จะขอรับรองคาร์บอนเครดิต จะต้องยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER (Modality of Communication: MoC) ก่อนวันเริ่มดำเนินโครงการลงทุนหรือพัฒนาโครงการให้อบก.ทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะต้องมีการเปิดฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียนโครงการ

ขณะเดียวกัน อบก.ยังได้ประกาศขั้นตอนการพัฒนา T-VER-P-METH-14-01 ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ดิน (CO2 Capture and Storage in GeologicalFormation) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2566 เป็นต้นมา เพื่อกำหนดขึ้นตอนวิธีปฏิบัติ หลักเกณฑ์ในการพัฒนา เช่น กิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่นำมาใช้ในการคำนวณคาร์บอนเครดิต การการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกรณีฐาน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการในกระบวนการดักจับและแยก CO2 ออกจากก๊าซ การคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Reduction) และการติดตามผลการดำเนินโครงการ(Monitoring Plan) เป็นต้น

จากการดำเนินงานของ อบก.ดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน มีโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ ในอ่าวไทย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ร่วมทุนกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท โมเอโกะไทยแลนด์ จำกัด ได้ยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER (Modality of Communication: MoC) เข้ามาแล้ว 1 โครงการ เพื่อนำไปสู่การขอขึ้นทะเบียบนรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อไป

ปตท.สผ.ลุย CCS ยื่น Premium T-VER ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit Upstream CCS Project) ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นในการขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608 ตามกรอบยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่าของประเทศไทย ที่ตั้งป้าหมายในการกักเก็บคาร์บอนจาก CCS ให้ได้ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ.2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านตันต่อปี ภายในปี ค.ศ.2065

โครงการดังกล่าว ปัจจุบันได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น ด้านการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นต้น และได้ศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) เสร็จแล้ว รวมทั้งได้ออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เสร็จแล้ว เช่นกัน

ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) คาดว่า จะได้ข้อยุติภายในไตรมาสแรกของปี 2567 และจะเริ่มกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในแหล่งอาทิตย์ได้ราวปี 2570 ประมาณการความสามารถในการดักจับและกักเก็บเบื้องต้นอยู่ที่ ประมาณ 0.7-1 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ประมาณการลงทุนราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)