อาณาจักรสีเขียว ปตท.สผ. สูตรธุรกิจยั่งยืนในวันที่โลกเดือด-ดิสรัปฯพลังงาน

02 พ.ย. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2566 | 13:56 น.

“อาณาจักรสีเขียว” ของ “ปตท.สผ.” สูตรสำเร็จธุรกิจยั่งยืน ผ่านองค์ความรู้และโซลูชันใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ ในวันที่โลกเดือดและดิสรัปชั่นพลังงาน

เมื่อโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน รัฐบาลทั่วโลกขยับตัววางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่แทนการใช้ฟอสซิลให้มากขึ้น 

ข้อมูลจาก World Population Data 2023 ระบุว่าประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 9.7 พันล้านคนในปี 2050 นั่นหมายถึงความต้องการพลังงานจะมีมากขึ้น เพราะพลังงานนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 
 


ลากจุดเชื่อมโอกาสกับโจทย์ท้าทาย “ธุรกิจพลังงาน” ในอนาคต

เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (จำกัด) มหาชน หรือ ปตท.สผ. จึงปรับตัว ทั้งการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่นอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยเน้นพลังงานรูปแบบใหม่ของอนาคต และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

“จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ทุกภาคอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวเพื่อเป็นส่วนหนี่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมพลังงาน ที่เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในข้ามคืนด้วยปัจจัยหลาย ๆ ประการ ปตท.สผ. จึงมุ่งมั่นที่จะผลิตพลังงานรูปแบบเดิมให้มีความสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงค้นหาและพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับสนับสนุนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) กล่าว
 


คำตอบอยู่ที่ 3 กลยุทธ์การดำเนินงานมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และรองรับความท้าทายของธุรกิจพลังงานในอนาคต ตอบสนองต่อเป้าหมายสำคัญในการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน จากภายในสู่ภายนอก (From We to World) และสนับสนุนเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) ที่คำนึงผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม  

กลยุทธ์ที่ 1 Drive Value สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมุ่งเน้นการลงทุนในส่วนของต้นน้ำ และกลางน้ำ

กลยุทธ์ที่ 2 Decarbonize เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นการบริหารจัดการ E&P Portfolio เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (ปี 2050) ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) ผ่านการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนงาน และหาโอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและมองหาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการ เร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปลูกป่าและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยมหาสมุทร (Blue Carbon) ภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life)

กลยุทธ์ที่ 3 Diversify เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) เช่น ธุรกิจย่อยของ ปตท.สผ. อย่างบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเน้นการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ 

“ปตท.สผ. ยังแสวงหาโอกาสลงทุนในเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCUS รวมไปถึงการต่อยอดเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และพลังงานในอนาคต และยังมองหาโอกาสการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม” คุณมนตรี อธิบาย 

ล่าสุด ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ FTEV ได้เปิด โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ" มีกำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ โดยเริ่มการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา  
 


สูตรสำเร็จ “ปตท.สผ.” พลิกโฉมธุรกิจ กับเส้นทาง 10 ปี ลดก๊าซเรือนกระจก

สิ่งที่ ปตท.สผ. ต้องการให้เกิดขึ้น คือ “ความยั่งยืน” ในแง่มุมธุรกิจและองค์กร จากแนวคิดหลัก คือการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ปรับใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ อนุรักษ์และฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ นิเวศทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ซึ่งเรื่องราวหลังจากนี้ คือรากฐานที่เข้มแข็ง และเป้าหมายของ ปตท.สผ. ในอนาคต

เส้นทางการหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้ในปี 2565 ปตท.สผ. ลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 25 จากปีฐาน 2555 โดยมีปริมาณการหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมทั้งหมดประมาณ 8.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

ความสำเร็จนี้มาจากโครงการหลักของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการ Portfolio (Portfolio Management) การนำก๊าซส่วนเกินและก๊าซที่จะเผาทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์หรือนำกลับมาเข้ากระบวนการผลิต (Flare Gas Recovery and Utilization) การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและกระบวนการผลิต (Production Efficiency Improvement) การปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) 

ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ สนับสนุนเป้าหมายองค์การสหประชาชาติเป้าหมายที่ 13 (UN SDG 13) เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสนับสนุนเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2608 

ผ่านแนวคิด “EP Net Zero 2050” โดย E มาจาก “Exploring for Lower Carbon E&P Portfolio” คือการเน้นบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions  เช่น ลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ และนำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาในการลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต

ส่วน P มาจาก Production and Planet in Balance คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต โดยเดินหน้าโครงการ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ในอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก เรียกได้ว่าเป็นการริเริ่มโครงการลักษณะนี้ครั้งแรกในประเทศไทย และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ในประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ศึกษาโอกาสและเทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization: CCU) โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต 

ไม่เพียงเท่านี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งสู่การปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) สำหรับโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต โดยการนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี CCS รวมทั้ง การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ การติดตั้งโซล่าเซลล์ และกังหันลม รวมถึงการหาโอกาสในการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ให้มากขึ้น 


“ปลูกป่า-ลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง” ชดเชยปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กลยุทธ์การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ของ ปตท.สผ. เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ Carbon Credit Portfolio จากการจัดหาคาร์บอนเครดิตในประเทศที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ภายใต้แนวทางการจัดหาคาร์บอนเครดิตต่าง ๆ เช่น การดำเนินงานโครงการด้วยตนเอง การทำโครงการความร่วมมือระยะยาวกับหน่วยงานต่าง ๆ และการจัดหาคาร์บอนเครดิตจากแพลทฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ มีโครงการสำคัญ ได้แก่ การปลูกป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และการดำเนินงานร่วมกับภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Removal Project) มองหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากักเก็บ (Advanced Tech) เช่น Direct Air Capture (DAC) เป็นต้น
 


 

ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนต้องปักหมุดแนวคิดแบบ ESG เพื่อโลก

การดำเนินงานของธุรกิจในยุคนี้ไม่ใช่แค่การคำนึงถึงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่องค์กรต้องตระหนักถึงองค์รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ ชุมชนรอบข้าง หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. เป็นองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้มองแค่การดำเนินกิจการในภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเชื่อมั่นในการสร้างความยั่งยืน จากการสร้างสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนา “กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน” สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็น "Energy Partner of Choice" ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

“เพราะบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กร โดยมีการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานที่แข็งแกร่งและมีจิตสำนึกที่คำนึงถึงคุณค่าในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายแล้ว จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยรวมได้ในที่สุด” คุณมนตรี กล่าว พร้อมอธิบายกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ ปตท.สผ. ที่มุ่งสู่ องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (HPO - High Performance Organization) เน้นการดำเนินงานที่เป็นเลิศในทุกองค์ประกอบของธุรกิจด้วยมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

กำกับดูแลกิจการที่ดี บริหารความเสี่ยง และกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (GRC Governance, Risk Management and Compliance) เน้นดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

รวมทั้ง สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (SVC - Sustainable Value Creation) มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผ่านการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคม โดยกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ปตท.สผ. และประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้ง 17 เป้าหมายอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือ เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ที่มุ่งผสานธุรกิจและความยั่งยืนเข้าด้วยกัน ผ่านองค์ความรู้และโซลูชันใหม่ ๆ สะท้อนให้เห็นว่าทุกกลยุทธ์และแนวทางดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงาน ในฐานะองค์กรคาร์บอนต่ำ และสร้างความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เชื่อมโยงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูสู่หนึ่งในองค์กรแห่งความยั่งยืนที่สมบูรณ์