นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ทางคาร์บอนในปี 2593 และสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ในปี 2608 ส่งผลให้ขณะนี้ภาคเอกชนเกิดการตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมากขึ้น
เห็นได้จากเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ได้มีสมาชิกลงนามเจตนาในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมแล้วถึง 517 องค์กร เป็นเครือข่ายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสมาชิกได้แสดงความตั้งใจในการที่จะร่วมดำเนินกิจกรรม และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุดมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองสมาชิกประเภท “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization หรือ CALO)” จากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC secretariat ที่พัฒนาหลักเกณฑ์ในการตรวจวัด ลด และชดเชย (optional) จำนวน 52 องค์กรที่ได้มีการดำเนินงานตามเกณฑ์ แบ่งเป็นประเภทโดดเด่น จำนวน 16 องค์กร และในระดับทองแดงขึ้นไป จำนวน 36 องค์กร
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีงบประมาณที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) แล้วจำนวน 371 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 11,504,675 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นในส่วนของมีโครงการแบบแผนงานจำนวน 7 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 84,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และแบบแยกตามประเภทโครงการ 364 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้ 11,420,219 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ขณะที่มีโครงการได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต ช่วงปีงบประมาณ 2559-2566 ราว 16.95 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จำนวน 155 โครงการ รวมการขอรับรองทั้งหมด จำนวน 308 ครั้ง
ปัจจุบันอบก.ได้พัฒนา “โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER)” ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและมีคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้ข้อ 6 (Article 6) ของความตกลงปารีส สามารถนำไปชดเชยหรือถายโอนคารบอนเครดิตระหว่างประเทศได้ ปัจจุบันมีโครงการที่ยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER (Modality of Communication: MoC) แล้วจำนวน 16 โครงการ ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย
ส่วนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น พบว่า ช่วงปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบัน 2566 มีการซื้อขายแล้วราว 2,981,578 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 274.25 ล้านบาท โดยในช่วงปีงบประมาณ 2567 มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตราว 165,929 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าราว 55.16 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 332.47 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 79.71 บาทต่อตัน โดยปัจจุบันมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับรองจากอบก.อยู่ในตลาดราว 15.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่วิจัยกรุงศรี สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังอยู่ในช่วงกว้างในแต่ละประเภทโครงการ ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม (FTIX) ยังอยู่ในวงจำกัดและมีราคาขายที่ตํ่า โดยเดือนตุลาคม 2566 มีปริมาณซื้อขายสะสมอยู่ที่ 12,117 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าการซื้อขาย 628,150 บาท และยังมีราคาเฉลี่ยที่ตํ่า
ทั้งนี้ แม้ว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องราคา หากราคาตํ่าเกินไปจะไม่จูงใจให้เกิดการสร้างคาร์บอนเครดิต และหากราคาที่สูงเกินไปจะทำให้คาร์บอนเครดิตน่าสนใจน้อยลง และผู้ซื้ออาจหันมาลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง