ทีดีอาร์ไอหนุนเก็บภาษี CO2 เคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

10 พ.ย. 2566 | 15:22 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 15:42 น.

งานสัมมนานโยบายสาธารณะประจำปีของทีดีอาร์ไอ “ปรับประเทศไทย… ไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนตํ่า” ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้สะท้อนถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขว่า

ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกใบนี้ แต่ทว่ากลับติดอันดับ 1-10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change มากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งนํ้าท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจสังคมไทย ใน 2 ระดับ คือ ระดับมหภาค ที่ดูผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย เช่น GDP การจ้างงาน เงินเฟ้อ ฯลฯ และระดับรายสาขา เช่น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาขาเกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น

ปัจจุบันหลายภาคส่วนยังมีการปรับตัว เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายจาก Climate Change น้อยมาก มีผู้คนและองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจด้วยซํ้าว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบกับชีวิต องค์กรและประเทศอย่างไร ขณะที่การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ภูมิคุ้มกันในระยะยาว หรือ Long-term Climate Resilience การดำเนินการส่วนใหญ่จะเน้นการรับมือภัยพิบัติ เฉพาะหน้าหรือระยะสั้นเท่านั้น

ดร.กรรณิการ์ ชี้ให้เห็นว่า การรับมือกับ Climate Change ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น อาจเริ่มจากมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ การจัดการขยะและนํ้าเสีย ฯลฯ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้มีเทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมและคืนทุนเร็ว แต่ในระยะกลางถึงระยะยาว อาจใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อย-กักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน

ขณะที่ภาคเกษตรอาจให้ความสำคัญที่การปรับกระบวนการปลูกข้าวให้ลดการใช้นํ้าและลดการปล่อยมีเทน การพัฒนาอาหารสัตว์เพื่อลดการปล่อยมีเทนจากสัตว์ ฯลฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรม อาจให้ความสำคัญที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า เช่น ปูนหรือคอนกรีตคาร์บอนตํ่า รวมถึงการนำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมาใช้ สำหรับภาคบริการ อาจเน้นที่การใช้เทคโนโลยีหรือเชื้อเพลิงสะอาดในการขนส่ง

การที่จะผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญ ในการแก้ปัญหา และภาครัฐควรมองถึงกลไก 3 ด้าน ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะมาใช้ในการลงทุนในการการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการสร้างการรับรู้กับประชาชน หรือองค์กรต่าง ๆ

โดยที่ภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอน และนำรายได้จากภาษีส่วนหนึ่งไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอีกส่วนหนึ่งไปบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ